มึนอาชีวะเอกชน59%มีน.ร.ต่ำ500คน สอศ.ห่วงทยอยปิดตัว-เล็งว.รัฐรับจำกัด

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลผู้เรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 461 แห่ง พบว่า มีผู้เรียนทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 287,184 คน ขณะที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐมี 425 แห่ง น้อยกว่าสถานศึกษาเอกชน แต่กลับมีผู้เรียนทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.รวม 670,457 คน เมื่อจำแนกสถานศึกษาเอกชนตามจำนวนนักเรียน พบว่า 276 แห่ง คิดเป็น 59% ของสถานศึกษาเอกชนทั้งหมด มีผู้เรียนน้อยกว่า 500 คน แบ่งเป็น มีผู้เรียน 1-100 คน จำนวน 64 แห่ง มีผู้เรียน 101-200 คน จำนวน 63 แห่ง มีผู้เรียน 201-300 คน จำนวน 58 แห่ง มีผู้เรียน 301-400 คน จำนวน 52 แห่ง และมีผู้เรียน 401-500 คน จำนวน 39 แห่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขปัญหา เพราะหากปล่อยไว้สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนอาจต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมากๆ

“ผมได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปวิเคราะห์ตัวเลขที่เหมาะสม ว่าวิทยาลัยอาชีวะ 1 แห่ง ควรจะต้องมีผู้เรียนขั้นต่ำกี่คนจึงจะอยู่รอด โดยจะไม่ใช้แนวทางการยุบรวมวิทยาลัยที่มีผู้เรียนน้อย แต่จะหาวิธีเพิ่มผู้เรียนในวิทยาลัยที่มีเด็กน้อย ซึ่งต้องลงไปดูเป็นรายจังหวัด เพราะที่ผ่านมาพบว่าวิทยาลัยอาชีวะรัฐบางแห่งรับเด็กโดยไม่จำกัดจำนวน ทำให้มีเด็กไปเรียนวิทยาลัยอาชีวะเอกชนน้อย ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้คือจำกัดจำนวนการรับเด็กในวิทยาลัยอาชีวะรัฐ เพื่อเกลี่ยเด็กให้วิทยาลัยเอกชนมากขึ้น การเปิดห้องเรียนสาขา โดยให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ที่มีชื่อเสียง และมีศักยภาพ เปิดห้องเรียนสาขาในวิทยาลัยอาชีวะที่มีผู้เรียนน้อย พัฒนาให้เป็นวิทยาลัยเฉพาะทาง เป็นต้น” นายชัยพฤกษ์กล่าว

นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หลายคนอาจมองว่าการรวมอาชีวศึกษารัฐ และเอกชนครั้งนี้ สถานศึกษาอาชีวะรัฐจะต้องเกลี่ยงบประมาณไปให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนมากขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image