‘นพ.ปิยะมิตร’ อธิการฯ ม.มหิดล ชูเรียนข้ามศาสตร์-รับสังคมสูงวัย

‘นพ.ปิยะมิตร’อธิการฯ ม.มหิดล
ชูเรียนข้ามศาสตร์-รับสังคมสูงวัย

หมายเหตุศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัย ในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง

⦁มีนโยบาย และแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างไร

“การเรียนการสอนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พัฒนาทั้งทางด้านโซเชียลมีเดีย ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ยังมีความเปลี่ยนแปลงในภาคสังคม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะ Aging Society หรือสังคมสูงวัย ดังนั้น วิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงมีความสำคัญ ซึ่งจะต้องพัฒนา 2 เรื่องใหญ่คือ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Well Being โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เน้นการมีสุขภาพที่ดี หรือ Health aging และ 2.ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งจากสภาวะโลกร้อน และมลพิษ ทำให้เกิดกลุ่มโรคใหม่ และการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดเชื้อ หรือกลุ่มโรค NCDs (non-communicable diseases) เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน โรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งจะต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ปัญหาใหม่ๆ เหล่านี้

Advertisement

ทิศทางการบริหารงาน คือมุ่งเน้นการต่อยอดการศึกษา และวิจัย ไปสู่ผลสำเร็จใน Real World Impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic well being) ในระดับโลก โดยใช้จุดแข็งที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในสหสาขาวิชา มุ่งเน้นการสร้างกลไกในการเชื่อมโยง และกำหนดทิศทางประสานความร่วมมือ ทั้งด้านสานภารกิจวิจัย (Synergy Research) เพิ่มอำนาจผู้เรียน (Empowering Learners) และขยายผลสัมฤทธิ์ (Amplifying Operation)

สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) และความท้าทายใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ช่องว่างระหว่างช่วงวัย

Advertisement

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมีการเรียนการสอนทั้งหมด 37 คณะ จัดการเรียนการสอนใน 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศาสตร์มนุษยวิทยาและการจัดการ โดยมีแนวคิดการจัดการศึกษาที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างคณะ/สาขาน้อยลง โดยทลายกำแพงให้เรียนข้ามศาสตร์ เช่น แพทยศาสตร์ กับการจัดการ เป็นต้น การเรียนข้ามศาสตร์เหล่านี้จะตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรม ที่เรียกว่าชีววิทยาศาสตร์ ตรงนี้เป็นตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น”

⦁ในเชิงการจัดการเรียนการสอนต้องปรับตัวหรือไม่

“ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ตามช่วงวัย 25-30 ปีแรกของชีวิต คือเรียนปริญญาตรี โท และเอก แต่ปัจจุบันการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต เป็นการเรียนที่ไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นปริญญา แต่เรียนเพื่อตอบการทำงานในอนาคต”

⦁เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งเน้นการศึกษาตลอดชีวิต

“ถูกต้อง ปัจจุบันหลายองค์กรเลิกใช้ปริญญาเป็นตัวตัดสินการรับคนเข้าทำงาน แต่พิจารณาจากศักยภาพในการทำงานจริง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัว เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life long learning แบบไมโครโมดูล การศึกษาที่จะนำผลลัพธ์ไปใช้จริง ไม่ใช่ใบปริญญา ขณะเดียวกันยังเน้นเรื่องการรีสกิล อัพสกิล ทั้งหมดนี้สามารถสะสมหน่วยกิต และสอบรับปริญญาในระดับที่ตั้งใจไว้ได้ ส่วนการเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแนวทางที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ยังไม่เกิดขึ้นขณะนี้

ขณะนี้มหาวิทยาลัย พยายามจะทลายกำแพงในเรื่องของการจบการศึกษา ลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น ต้องจบ 4 ปี โดยให้เก็บสะสมหน่วยกิต เพื่อให้ตรงกับระดับปริญญาที่ตั้งใจไว้ โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการจบ มหาวิทยาลัยต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ต้องปรับตัว เป็นการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์เดิมๆ ที่มีข้อจำกัด”

⦁จะควบคุมคุณภาพบัณฑิตอย่างไร

“คุณภาพบัณฑิต หรือผู้เรียน ขึ้นอยู่กับการสอบ และการวัดผล ซึ่งมหาวิทยาลัยเน้นในเรื่องการนำไปใช้จริง และการเรียนแบบ ไมโครโมดูล ทำให้ยืดหยุ่น สามารถเรียนข้ามศาสตร์ได้ง่ายขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดการเรียนข้ามศาสตร์ไปแล้ว ซึ่งนักศึกษาแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ รุ่นแรก ที่เรียนข้ามศาสตร์ ปัจจุบันเรียนอยู่ปี 5 และมีผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ”

⦁ตั้งเป้าว่าภายใน 4 ปี มหาวิทยาลัยมหิดลจะอยู่อันดับที่เท่าไรของโลก

“การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ไม่ได้ดูเรื่องการเรียนการสอน แต่ไปดูจำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก และการอ้างอิง การจัดการศึกษา เป็นการตอบโจทย์ภายในของเราเอง ถ้าไม่ปรับตัว จะเป็นสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ในที่สุด เพราะไม่มีใครสนใจมาเรียน ในช่วงที่ผมขึ้นมาเป็นอธิการบดี ได้ระดมสมองเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในแต่ละคณะ และเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลก เกิดเป็นทิศทางการทำงาน”

⦁ไม่ได้ตั้งเป้าเรื่องอันดับโลก แต่เน้นปรับการสอนภายในมหาวิทยาลัย

“ไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้นมากนัก การทำงานจะเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกับสังคมไทย คนไทย และผมสนใจเรื่องสุขภาวะองค์รวม การทำงานที่ผ่านมาจะยึดตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า ‘ประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่การนำความรู้ ไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติได้อย่างไร’ ดังนั้น จึงพยายามเน้นย้ำการทำงาน ให้บุคลากรนำผลลัพธ์ที่เป็นผลกระทบ ต่อสังคม ประชาชน และสุขภาวะของคนไทยเป็นตัวตั้ง”

⦁เน้นเรื่องการสร้างสุขภาวะ และความสุขของคนไทย

“ใช่ เพราะคนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งที่มีค่าที่สุด ไม่ใช่ตึก หรือที่ดินราคาแพง แต่เป็นบุคลากรทุกภาคส่วนที่รวมพลัง เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยทำงานได้ หน้าที่ของอธิการบดี คือการสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนในมหาวิทยาลัย สามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จ เชื่อมโยงการทำงานทั้งภายใน และภายนอก โดยมองประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูล

ซึ่งใน 100 วันแรก ของการเป็นอธิการบดี ผมตั้งเป้าว่าฐานข้อมูลทั้งหมดจะต้องเชื่อมโยงกัน โรงพยาบาลทั้ง 9 โรงในสังกัด จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ปรับแก้ระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรค ส่วนเรื่องบุคลากร ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะคนจะทุ่มเทกับการทำงานได้ ต้องรู้สึกดีกับการอยู่ในองค์กร และความรู้สึกที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพของตัวเอง และการดูแลสุขภาพของญาติสายตรง ซึ่งมหาวิทยาลัยพยายามจะขยายการดูแลสุขภาพบุคลากร และครอบครัวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น”

⦁มหาวิทยาลัยจะเข้าไปแก้ปัญหาสุขภาพผู้สูงวัยอย่างไร

“ข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี พบว่า อัตราการเสียชีวิตมากกว่าอัตราการเกิด ปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณปีละ 5 แสนคน จากที่เคยมีอัตราการเกิดปีละกว่า 1 ล้านคน และจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนไม่แต่งงาน แต่งงานช้า หรือแต่งงานแล้วไม่อยากมีลูก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีศักยภาพสูง ไม่ค่อยอยากมีลูก ขณะที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะเพศชาย ส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงเร็วกว่าเวลาที่ประเมินไว้ ดังนั้น จึงเกิดสังคมสูงวัยเร็วขึ้น หากไม่รีบปรับวิธีการบริหารจัดการ อาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เช่น ยกเลิกการเกษียณอายุตอน 60 ปี แต่ให้สามารถทำงานได้ตามศักยภาพ หากไม่ไหวจริงๆ ค่อยหยุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคิดโมเดลที่เหมาะสม

มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ตอบโจทย์ในส่วนนี้ โดยทำหน้าที่เป็นปัญญาของแผ่นดิน ไม่ให้กลุ่มคนสูงอายุที่ไม่ทำงาน กลายไปเป็นภาระของคนวัยทำงาน กลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ แนวคิดการดูแลคนกลุ่มนี้จริงๆ คือให้คนสูงอายุทำงานต่อเนื่อง เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี มหาวิทยาลัยมีหน้าที่นำโจทย์เหล่านี้มาคิด หาคำตอบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัย และข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อหาทางออกให้สังคมในเรื่องต่างๆ”

⦁รัฐบาลต้องสนับสนุนการมีบุตรเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

“เท่าที่ทราบ ขณะนี้รัฐบาลสนับสนุนอยู่ แต่อาจยังไม่ได้ให้การสนับสนุนที่เพียงพอเหมือนประเทศอื่นๆ”

⦁เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพตัวเอง

“ทุกวันนี้ผมยังออกกำลังกายอยู่ตลอด เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการว่ายน้ำ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดี เมื่อก่อนจะชอบตีเทนนิส แต่เพราะเอ็นหัวไหล่ฉีก จึงหันมาว่ายน้ำ และเล่นกีฬาในร่มเป็นหลัก”

⦁ในส่วนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Well Being จะทำอย่างไร

“องค์รวมจริงๆ คือการไดเอต โดยเฉพาะสังคมเมือง เป็นสังคมที่ overeat น้ำหนักเป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องควบคุม ถ้าน้ำหนักเกิน ควรเลี่ยงของหวาน ลดการบริโภคแป้ง ให้ไปอิ่มด้วยโปรตีน และผัก ไม่อยากให้ทนหิว อยากให้คนกินแล้วอิ่มได้ แต่อิ่มแล้วจะต้องไม่อ้วน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญของการควบคุมน้ำหนัก อีกส่วนคือการออกกำลังกาย ซึ่งคนมักจะบ่นว่าไม่มีเวลา ทั้งที่ใช้เวลาไม่มาก แต่มีประโยชน์ ทำให้การนอนมีประสิทธิภาพดีขึ้น หลับลึก ตื่นมาสดชื่น เรียกว่าได้กำไรด้วยประการทั้งปวง”

⦁คนสูงอายุควรออกกำลังกายอย่างไร

“คนสูงอายุไม่ควรวิ่ง เพราะข้อเข่าจะเสีย ควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือหากมีสระว่ายน้ำ การลงสระจะดีมาก ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ให้เดินในสระว่ายน้ำ ไม่ทำให้ข้อเสื่อม แต่มีการเผาผลาญแคลอรี ทำให้กล้ามเนื้อได้ออกกำลัง ดังนั้น การว่ายน้ำจึงเป็นการออกกำลังกายที่มักจะแนะนำคนไข้เสมอ”

⦁เคยเป็นแพทย์ใช้ทุนที่สมุย จ.สุราษฎร์ธานี

“ผมไปอยู่สมุย 2 ปี ที่เลือกไปเพราะชอบทะเล และบ้านพักอยู่ใกล้ทะเล จึงมีความผูกพันค่อนข้างมาก เพราะเป็นที่แรกที่ไปทำงานใช้ทุน แม้การเดินทางค่อนข้างลำบาก แต่รู้สึกมีความสุข เป็นเหมือนสถานบ่มเพาะการทำงานในหลายๆ เรื่อง ได้ทำงานทุกอย่าง เพราะโรงพยาบาลมีหมอไม่กี่คน การจะส่งต่อคนไข้ก็เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะต้องใช้เวลานั่งเรือหลายชั่วโมง ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องทำเอง

ถึงจะเป็นอธิการบดี แต่ทุกวันนี้ยังลงตรวจคนไข้อยู่ เพราะคิดว่าเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากการเป็นหมอ เป็นสิ่งที่ดี ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จากคนไข้ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนกับคนไข้ในเชิงความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการสั่งยา แต่เป็นเรื่องการให้ความรู้ที่จะทำให้ชีวิตคนไข้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากชีวิตคนไข้ เพราะแต่ละคนจะมีแง่มุมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน”

เบญจมาศ เกกินะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image