จุฬาฯถกแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ สจล.ชงกรมประมงเปิดช่องช็อตไฟฟ้า – อาจารย์ม.เกษตร ใช้ยาแรงดัดแปลงพันธุกรรม
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ (ARRI Chula) จัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 “ระดมคิด พลิกวิกฤตคางดำ” โดยนายเจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มุมมองของนักสิ่งแวดล้อม ปัญหาปลาหมอคางดำระบาดมานานแล้วตั้งแต่ปี 2559 กระทั่ง มีประกาศจากกรมประมงห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยงในปี 2561 แต่ในปีนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่มีความกระตือรือร้น ภาครัฐและเอกชน มีการหารือเพื่อแก้ปัญหา และตั้งคำถามว่า ทำไมแอฟริกาถึงสามารถจัดการกับปัญหาปลาหมอคางดำได้ แม้ประเทศเหล่านั้น อาจมีสัตว์นักล่าอยู่เยอะ แต่วิธีการที่สำคัญจริงๆแล้วคือการยำไปบริโภค ฉะนั้นกรณีของประเทศไทยก็ควรจะใช้วิธีการบริโภค หรือนำไปแปรรูปเป็นน้ำปลา เพราะปลาหมอคางดำมีรสชาติเหมือนเนื้อปลาธรรมดา รวมถึงต้องให้ความรู้ เรื่องการแพร่พันธุ์ ซึ่งมีการตีความทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นปลาซอมบี้ หรือการกลายพันธุ์เกิดเป็นความตื่นตระหนก ทำให้คิดว่าจะไม่สามารถกำจัดปัญหานี้ได้
ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิทยาศาสตร์ทางทะเลคณะวิทยาศาสตร์และสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาฯ กล่าวว่า คำว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือพืชหรือสัตว์ที่ถูกนำเข้ามาทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มาตรงบริเวณที่ไม่เคยอาศัยอยู่มาก่อนอย่างปลาหมอคางดำเป็นกรณีที่ชัดเจน จากแอฟริกามาอยู่ที่ประเทศไทยจึงถูกเรียกว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และสำหรับกรณีนี้มีการตั้งคำถามว่าเป็นแบบไหนซึ่งการถูกนำเข้ามาแบบตั้งใจอาจจะต้องการนำเข้ามาเพาะพันธ์เพื่อเลี้ยงให้เป็นสินค้าทางการเกษตร หรือเพื่อความสวยงาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการถูกนำเข้ามาแบบไม่ตั้งใจ โดยหลายประเทศให้ความสนใจ เพราะถ้าเกิดขึ้นแบบไม่ตั้งใจแสดงว่าไม่สามารถจะป้องกันได้ คือ ถูกนำเข้ามาผ่านน้ำอับเฉา คือน้ำที่ถูกบรรจุอยู่ในเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศและเรือบรรทุกสินค้าจะต้องมีการปล่อยน้ำอับเฉาทิ้ง เมื่อปล่อยสู่น่านน้ำประเทศไทยก็ทำให้สัตว์ต่างๆที่อยู่ในน้ำอับเฉา เข้ามาสู่ประเทศไทย
นายคงเทพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีการควบคุมปลาหมอคางดำหลายมาตรการ อย่างหนึ่งคือจะใช้การควบคุมโดยชีววิธี มีสองระยะคือระยะกลางและยาวในระยะกลางกรมประมงจะใช้วิธีการปล่อยปลาผู้ล่า ในน้ำจืด จะปล่อยปลากรดเหลือง ปลากรดแก้ว ปลากาย ในส่วนปากน้ำทะเลจะเป็นปลากะพง ปลาดุกทะเล และในส่วนของน้ำกร่อยจะเป็นพวกปูทะเล ปูม้า สัดส่วนปลาผู้ล่าเป็น 1:3
“ปลาผู้ล่าที่ดี จะเป็นปลากินเนื้อ อย่างเช่นในกลุ่มปลากระพงมีความเหมาะสมเพราะมีความก้าวร้าว ความกระหายที่จะกินตัวสัตว์น้ำที่อยู่ในธรรมชาตินั้น ปลาผู้ล่าเมื่อถูกปล่อยไม่ได้กินแค่ปลาหมอคางดำ แต่จะไปกินสัตว์น้ำในบริเวณนั้นด้วย ฉะนั้นถึงต้องมีการควบคุมปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้มีความสมดุล ในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในธรรมชาติได้” นายคงเทพ กล่าว
ผศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า จากการศึกษาดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ รายงานโดยกรมประมง ปี 2561 –2563 พบว่ามีการรุกรานระลอกแรก ที่จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรปราการ ประจวบ ชุมพร และ ระยอง บ่งชี้ว่า อาจมาจากการนำเข้ามากกว่า 1 ครั้ง การกระจายต่างพื้นที่ที่อยู่ห่างกัน และน่าจะเป็นการนำพาเข้าไปของมนุษย์ มากกว่าที่จะไปโดยธรรมชาติ บทเรียนสำคัญที่ได้จากการรุกรานของปลาหมอคางดำและความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นจำเป็นของการประเมินความเสี่ยงและวางมาตรการรับมืออย่างเหมาะสม โดยอาจต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน
นายดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อยากจะเสนอให้มีการทำเรือช็อตไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหานี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีเรือช็อตไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยบนเรือจะทำจากวัสดุต้านทานไฟฟ้า ทำให้เมื่อปล่อยไฟฟ้าลงไปในน้ำคนที่อยู่บนเรือจะไม่โดนช็อต สนามไฟฟ้าจะทำมีแรงดันประมาณ 1000 โวลต์ ความถี่สูงอาจจะเป็นกิโลเฮิร์ตซ์เพราะไฟฟ้าที่มีความถี่สูงจะไม่จมลึก ฉะนั้นสัตว์ที่อยู่ในน้ำลึกจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีลักษณะลอยหัวอยู่บนผิวน้ำมีความเหมาะสม ขณะเดียวกันจะต้องสร้างเครื่องมือ ที่มีลักษณะในการปล่อยไฟฟ้าออกมาทีระลอกเพื่อความปลอดภัยของคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้
“การช็อตไฟฟ้าใส่ปลายังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงอยากขอกรมประมงให้อนุโลมให้ชาวบ้านใช้การช็อตไฟฟ้า แก้ปัญหา โดยจะต้องมีการควบคุมตรวจสอบและอบรม แบ่งแนวทางการแก้ปัญหา เป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะติดตามผล รวมถึงใช้โอกาสนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้” นายดุสิต กล่าว
ผศ.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จีโนมคือ ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการปรับแต่ง จีโนม หรือ Genome Editing เป็นการใส่เครื่องมือเข้าไปแก้ไขข้อมูลพันธุกรรมในตำแหน่งที่ต้องการอย่างจำเพาะ สามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ โดยเปลี่ยนแปลงเพศปลาให้เป็นเพศผู้ทั้งหมด ลดอัตราส่วนเพศเมียนำไปสู่การควบคุมจำนวนประชากรของปลาหมอคางดำได้ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลจีโนมของปลาหมอคางดำบางส่วน ซึ่งหากจะทำเรื่องนี้จะต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มเติม
“อีกแนวทางหนึ่งคือ ใช้ยาแรง สร้างเพศผู้ด้วยระบบจีนไดรฟ์ (gene drive) คือการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อสร้างการคัดลอกให้เกิดปลาเพศผู้ ซึ่งเคยมีการทดลองใช้ในการควบคุมประชากรยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เป็นการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นการปล่อยสิ่งมีชีวิต ที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นอยากเสนอให้มีการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือต่างๆไว้ก่อน เพื่อคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุด”ผศ.อนงค์ภัทร กล่าว