นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษกศธ. เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนครูมีมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะการกำหนดอัตรากำลังครูต่อจำนวนนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อย ทำให้เมื่อมีครูเกษียณอายุราชการจะไม่ได้รับอัตราทดแทน ซึ่งในส่วนนี้ ศธ.แก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยีจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน พัฒนาระบบให้สามารถนำกลับมาดูย้อนหลังได้ ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาครูผู้สอนต้นทางให้มีคุณภาพ และเดินหน้านโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ที่กำลังอยู่ในระหว่างการแปรญัตติของบประมาณเพิ่มเติมซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ซึ่งหากได้งบคืนมาเพียงส่วนหนึ่ง จะจัดทำคอนเทนต์ นำร่องมัธยมศึกษาตอนปลายในปีการศึกษา2568 แต่หากได้งบประมาณคืนมาทั้งหมด ก็อาจจะสามารถนำมาใช้ได้กับทุกชั้นปี เพื่อรองรับการพัฒนาการเรียนรู้ ในอนาคต ที่จะมีการเรียนการสอนด้วยระบบดิจิตอลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัลแห่งชาติ หรือ NDLP ที่จะรวบรวมความรู้และส่งต่อให้เด็กนักเรียนได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ศธ.ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ทุกที่ทุกเวลา 7,644,068,100 บาท ได้รับการจัดสรรเพียง 3,395,466,600 บาท ถูกตัดไป4,148,601,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำแพลตฟอร์มและเนื้อหาการเรียน
“ในส่วนของการผลิตครูนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะมีการประสานกับหน่วยงานฝ่ายผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งอนาคตจะมีการปรับหลักสูตรการผลิตครูอาจจะต้องมีการพัฒนาครูระดับประถมศึกษาให้มีพื้นฐานในสาขาอื่นๆเพิ่มเติมมากขึ้น โดยไม่ต้องเน้นว่า จบมาจากสาขาวิชาใด เพื่อจะทำการสอนพื้นฐานให้กับเด็กในชั้นประถมได้ หลากหลายมากขึ้น รวมถึงมีการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชั้นประถมศึกษาให้มีกลุ่มสาระวิชาลดลง” นายสิริพงศ์ กล่าว
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลนั้น ศธ. ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัด โครงการครูรักถิ่น ให้ทุนเด็กเรียนดีและอยากเป็นครู ได้เรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้ว จะให้กลับไปบรรจุเป็นครูในภูมิลำเนาของตัวเอง ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ช่วยให้ครูไม่ต้องฝืนวิถีชีวิตเดิมและยังเป็นการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่บางโรงเรียนมีจำนวนครูมากเกินความจำเป็น ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนนักเรียนลดลง แต่ครูผู้สอนไม่ประสงค์ขอย้าย เพราะได้สอนในโรงเรียนที่ต้องการ หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ ขณะที่ ต้นสังกัดอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เองก็ไม่สามารถสั่งย้ายโดยไม่มีเหตุอันควรได้ ดังนั้น จึงต้องกำชับให้โรงเรียนทำแผนพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนใดสอดคล้องกับจำนวนครู เชื่อว่าปัญหานี้จะค่อยๆดีขึ้นในอนาคต