รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง…โปรดปฏิรูปการศึกษา ให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความสุข

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง...โปรดปฏิรูปการศึกษา ให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความสุข

รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง…โปรดปฏิรูปการศึกษา
ให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีความสุข

ได้รัฐบาลใหม่แล้ว เป็นรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกเริ่มมีความหวังที่จะเห็นแนวทางใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาไทย หลายแนวคิดที่คนเข้าใจการศึกษาของชาติอย่างแท้จริงอย่างพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ได้พูดได้เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ ควรได้รับการเวลานำมาเป็นข้อมูลในการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังเสียที รวมทั้งคงได้เวลาแก้ปัญหาการศึกษาที่หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม กล่าวว่า “การศึกษาแบบหมาหางด้วน” ที่คนสร้างให้เก่งแต่วิชาแต่ขาดทักษะชีวิต คุณธรรม และรู้หน้าที่ของตนเอง

การศึกษาในปัจจุบันเป็นการศึกษาที่ผู้เกี่ยวข้อง “เป็นทุกข์อย่างสูงยิ่ง” ผู้เขียนขอขยายความเรื่องนี้ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empiricism Data) ดังนี้

1.ทุกข์ของนักเรียน ทั้งทุกข์ที่รับอยู่ในทุกขณะปัจจุบัน และทุกข์ที่รออยู่เบื้องหน้า ทุกข์ขณะปัจจุบันปรากฏข้อมูลตามที่ได้อภิปรายและพูดถึงกันอยู่บ้างแล้ว เช่น ทุกข์ของนักเรียนจากการเรียนที่ใช้เวลาเรียนเนื้อหาวิชาแต่ละวันมากเกินไป แนวคิดที่จะลดเวลาเรียนให้ลดลงก็คงได้เห็นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น การเรียนที่มีการบ้านมากเกินไป การเรียนที่ตำรับตำรามากเกินไปจนเด็กแบกกระเป๋านักเรียนกันหลังขดหลังแข็งตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้แก่นักเรียน ประเด็นนี้หากมองในแง่มุมของจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อเด็ก นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงของโลกไม่ว่าจะเป็นเพียร์เจต์ (Jean Piaget) หรือแอดเลอร์ (Alfred Adler) ประกาศทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ลือลั่นไว้ เป็นทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) และทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) บอกชัดและยังเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ว่า บุคลิกภาพของมนุษย์เป็นผลมาจากประการณ์ในวัยเด็ก รวมทั้งการไม่ได้รับการตอบสนองที่เป็นความสุขของชีวิตในวัยเด็ก เด็กที่ใช้ชีวิตเป็นทุกข์และเคร่งเครียดลักษณะเช่นนี้ นอกจากน่าสงสารแล้ว ยังส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เคร่งเครียด หลายๆ คนมีโลกทัศน์ต่อชีวิตและสังคมเป็นลบ กลายเป็นพลเมืองที่มีปัญหาต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

Advertisement

ฉะนั้นหากเด็กเป็นทุกข์ยาวนานตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งจบมัธยมปลายซึ่งเป็นความทุกข์ที่หนักหน่วงมาก เราจะได้ผู้ใหญ่ที่หาความสุขในชีวิตได้ยาก

ในประเด็นนี้ หากเหลียวมองดูการศึกษาระดับอุดมศึกษา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยตกอยู่ในสภาพ “เงินเดือนน้อยและเป็นหนี้” เห็นแล้วสะเทือนใจมาก เป็นสภาพจริงที่เกิดขึ้นในการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศเราเวลานี้ การเรียนในระดับอุดมศึกษาใช้ต้นทุนสูงมาก มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชนจัดการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ แต่มหาวิทยาลัยเอกชนน่าเห็นใจตรงที่ผลิตบัณฑิตให้ประเทศชาติในสภาพที่มีรายได้ที่เรียกเก็บจากค่าลงทะเบียนเรียนของลูกศิษย์เป็นช่องทางหลัก ไม่ได้รับการดูแลเรื่องงบประมาณจากรัฐในเรื่องอื่นเลย การที่มหาวิทยาลัยมุ่งแต่รายได้บนสภาพที่ไม่คำนึงถึงค่าจ้างบัณฑิตในตลาดแรงงานและการเป็นหนี้ของลูกศิษย์เลยเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เรื่องนี้ท้าทายรัฐบาลทุกรัฐบาลอย่างสูงยิ่งมานานแล้ว ว่าจะปฏิรูปอย่างไร

Advertisement

ผู้เขียนคิดว่าการสอนที่ไม่มุ่งเน้นคุณภาพของบัณฑิต เป็นการจัดการศึกษาที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ให้แก่ลูกศิษย์ เนื่องจากบัณฑิตต้องประสบกับปัญหาตกงาน และปัญหาได้รับค่าจ้างน้อย เมื่อตกงานหรือมีรายได้น้อยก็ไม่มีกำลังในการชำระหนี้ที่กู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมของรัฐบาล (กยศ.) เป็นปัญหาให้ต้องเป็นคดีความกับธนาคารเจ้าของเงินกู้ จนผู้ปกครองในฐานะผู้ค้ำประกันต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ยิ่งเป็นทุกข์อันใหญ่หลวงของผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ แต่มีความหวังให้ลูกได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาเพื่อเป็นเกียรติของครอบครัวและมีหน้าที่การงานที่ดีเหมือนพ่อแม่ทั่วไป

2.ทุกข์ของผู้ปกครอง การศึกษาที่ทำให้ผู้ปกครองเป็นทุกข์เห็นได้ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ปัญหาหนักของความทุกข์ของผู้ปกครองคือการกระเสือกกระสนส่งลูกเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียงกว่า จัดการศึกษาได้มีคุณภาพกว่า พูดภาษาการประกันคุณภาพการศึกษาคือสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งสถานศึกษากลุ่มนี้เก็บค่าเล่าเรียนสูง งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายหัวนักเรียนนั้น เมื่อสถานศึกษานำมาบริหารจัดการคืนกลับให้แก่ผู้ปกครองมีลักษณะมองไม่เห็น เหมือนตำน้ำพริกละลายในแม่น้ำ ด้วยความที่มีปริมาณเทียบกันไม่ได้เลย รายละเอียดแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

2.1 ทุกข์จากค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทั่วไป การที่ผู้ปกครองของนักเรียนระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมตอนต้นพยายามส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน เนื่องจากโรงเรียนเอกชนจัดการศึกษาได้มีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนของรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ หากจะดูข้อมูลเฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และเขตเทศบาลเมืองที่ล้อมรอบนครหาดใหญ่ ก็จะเห็นภาพชัดเจนมาก และโดยเฉพาะการศึกษาระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา กลุ่มผู้ปกครองที่พอมีกำลังจ่ายก็พอรอดพ้นจากความทุกข์ ส่วนผู้ปกครองที่รายได้น้อย แต่มีความหวังให้ลูกมีอนาคตที่ดีกว่า กลุ่มนี้จึงกระเสือกกระสนทุกวิธีทางเพื่อหาเงินส่งให้ลูกเรียนในโรงเรียนเอกชน พ่อแม่กลุ่มนี้จึงมีแต่ความทุกข์ ทั้งค่าบำรุงการศึกษาที่แพง เนื่องจากโรงเรียนจะเรียกเก็บค่าบำรุงเพิ่มเติมทุกอย่างที่จัดสอนเสริมให้แก่นักเรียน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ภาษาต่างประเทศอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งค่าขนมและค่าอุปกรณ์การเรียนที่รวมแล้วเป็นเม็ดเงินมากมายในแต่ละเดือน รัฐบาลของนายกแพทองธาร ชินวัตร จะปฏิรูปแก้ปัญหานี้อย่างไร

2.2 ทุกข์จากค่าเรียนพิเศษของลูก เป็นจำนวนเงินที่มหาศาลจริงๆ กล่าวเฉพาะในเมืองหาดใหญ่ มีจำนวนสถาบันสอนพิเศษ รวมทั้งการติวเป็นร้อยสถาบัน นักเรียนหลั่งไหลมาเรียนนอกจากจังหวัดสงขลาแล้วยังกินพื้นพี่จังหวัดพัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หากมองในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจคงเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่เมื่อดูในมิติของผู้จ่าย กลับเป็นความทุกข์หนักเช่นกัน ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้ปกครองพบว่าในผู้ปกครองที่ลูกเรียนระดับประถมศึกษามีค่าเรียนพิเศษที่ต้องจ่ายเพิ่มเดือนละประมาณ 10,000 บาทต่อคน นี่เป็นความทุกข์ที่ทับถมผู้ปกครองอยู่ นักเรียนที่ผ่านการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง บอกว่าความรู้ที่ได้รับจากการเรียนประจำที่โรงเรียนไม่เพียงพอต่อการทำข้อสอบสอบเข้า ม.1 หรือ ม.4 นี่มันคืออะไรกัน ทำไมการสอนประจำในโรงเรียนกับการสอบเข้าศึกษาต่อมันเป็นคนละเรื่องกันเช่นนี้ แสดงว่าการสอนในระบบโรงเรียนก็เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ของเรื่องนี้ รัฐบาลจะปฏิรูปแก้ปัญหานี้อย่างไร รัฐบาลจะ “เหยียบเบรก” ปัญหาการที่นักเรียนต้องเรียนพิเศษให้เป็นภาระทางค่าใช้จ่ายต่อผู้ปกครองอย่างไร

3.ทุกข์ของครู ครูเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับทุกข์อย่างหนักจากการศึกษาไทยของปัจจุบัน จากปากคำของครูกลุ่มตัวอย่างที่ผู้เขียนพูดคุย ความทุกข์ของครูเกิดจากเรื่องต่างๆ ดังนี้

3.1 จากงานที่นอกเหนือจากงานสอน ประเด็นนี้สำคัญมากๆ ผู้เขียนชอบใจมอตโต้ ของ สมศ.ที่กล่าวว่า “คุณภาพครูคือคุณภาพศิษย์” เนื่องจากมีความเชื่อเช่นนี้มายาวนานแล้ว เพราะเมื่อมองทั้งในมิติของผู้ถ่ายทอดวิชา มิติของผู้จัดสถานการณ์ของการเรียนรู้ และมิติของการเป็นตัวแบบ ที่ดีแก่ลูกศิษย์ คุณภาพของครูเป็นคุณภาพของลูกศิษย์อย่างชัดเจนมาก ทั้ง 3 มิติข้างต้น ครูต้องมีเวลาในการหาความรู้เพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเองเพื่อให้ตนเองเป็นครูที่มีความรู้ ครูต้องมีเวลาเตรียมการสอน วางแผนการสอน มีเวลาสอน และมีเวลาในการตรวจชิ้นงานของนักเรียน และให้ข้อมูลย้อนกลับ ผลการเรียนรู้ของนักเรียน นี่ยังไม่รวมการผลิตสื่อการสอน และการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อปรับปรุงพัฒนาการสอนของตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

3.2 ทุกข์จากระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งการประกันคุณภาพภายนอกที่ สมศ.กับกำดูแล และการประกันคุณภาพภายในที่เขตพื้นที่การศึกษาควบคุมดูแล จากครูกลุ่มตัวอย่างที่ผู้เขียนพูดคุยวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบประกันคุณภาพ พบว่าครูส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการประกันคุณภาพตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนด แต่ความสามารถในการบริหารจัดการงานประกันคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษายังต้องปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกำหนดว่า “ให้การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของทำงาน” เจตนารมณ์ของข้อความนี้ตามทรรศนะของผู้เขียนคือ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องบริหารให้งานเรื่องการประกันคุณภาพเป็น “งานประจำ” ไม่ใช่งานพิเศษ งานนอกเหนือจากงานสอน หรืองานที่ทำตามฤดูกาล คือลงมือทำเมื่อฤดูการประเมินมาถึง

ผู้เขียนคิดว่าการที่ครูทำหน้าที่ครูอย่างดีทั้งในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้จัดสถานการณ์ของการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของลูกศิษย์ และในฐานะตัวแบบ ไม่เป็นอุปสรรคของการประกันคุณภาพ เนื่องจากตัวชี้วัดจำนวนไม่น้อยตัวก็สนใจประเมินภารกิจนี้ของครู กล่าวคือระบบการประเมินของการประกันคุณภาพประเมินสิ่งที่ครูทำอยู่แล้ว เพียงแต่ครูต้องมีหลักฐานแสดงได้ตามสภาพจริงอย่างเป็นปกติ ไม่ต้องรอทำหลักฐานย้อนหลังเมื่อผู้ประเมินมาประเมิน เมื่อครูมีคุณภาพเช่นนี้ ประกันได้แน่นอนว่าลูกศิษย์มีคุณภาพ รัฐบาลใหม่จะปฏิรูปแก้ปัญหานี้อย่างไร

ฉะนั้นความทุกข์ที่แท้จริงของครูคือทุกข์จากการทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการสอน ทั้งงานการเขียนรายงานข้อมูลต่างๆ และงานโครงการประกวดต่างๆ ที่สถานศึกษาถูก “รุมทึ้ง” จนครูไม่มีเวลา เตรียมการสอน ไม่มีเวลาสอน และไม่มีเวลาเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเอง สิ่งที่ท้าทายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้ครูได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเพื่อการสอน ทั้งภารกิจก่อนสอน ขณะสอน และหลังสอน ให้มากที่สุด การทำเช่นนี้ได้เป็นทั้งการปลดทุกข์ให้ครู และเป็นการเพิ่มคุณภาพผลการเรียนรู้ของนักเรียนขึ้นอย่างมหาศาลแน่นอน

รัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร โปรดปฏิรูปการศึกษาเพื่อปลดทุกข์และคืนความสุขให้นักเรียนผู้ปกครอง และครูด้วยครับ

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image