สจล.เร่งผลิตน.ศ. ป้อนอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์-พีซีบี ชี้ตอบโจทย์โลกอนาคต จบแล้วมีงานทำ หวังช่วยดึงต่างชาติลงทุนเพิ่ม
เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายคมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สจล.มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอีก 2 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และ วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ ที่เกี่ยวข้องในการผลิตกำลังคนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และPCB โดย สจล.มีแผนในการบูรณาการคณะและวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันผลิตกำลังคนเพื่อให้ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติจะสามารถผลิตกำลังคนเข้าสู่ทั้ง2อุตสาหกรรมได้ประมาณ 120 คนต่อปี แต่ในตอนนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 200 คนต่อปี
“ทางสจล.มีการพูดคุยกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB เพื่อส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกทำงานในสถานประกอบการจริงผ่านโครงการสหกิจศึกษาโดยจะเน้นการเรียนรู้ทางทฤษฎีใน 2 ปีแรกก่อนส่งไปฝึกทำงานในบริษัทต่างๆอีก 2 ปี นักศึกษาเหล่านี้จะได้รับการเรียนรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการนั้นๆ และส่วนมากบริษัทต่างๆที่รับนักศึกษาฝึกงาน ต่างต้องการตัวนักศึกษาให้เข้าทำงานหลังเรียนจบทันที ขณะเดียวกัน สจล.จะให้อิสระกับนักศึกษาเต็มที่ในการเลือกว่าจะรับข้อเสนอของบริษัทหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของบริษัทในการหาข้อเสนอที่ดีเพื่อดึงดูดให้เด็กอยากไปทำงานต่อกับบริษัทหลังเรียนจบให้ได้” นายคมสัน กล่าว
นายคมสัน กล่าวต่อว่า นักศึกษาทางด้านนี้มีความขาดแคลนอยู่พอสมควรซึ่งสจล.เองมีการแก้ไขปัญหาโดยการดึงดูดให้เด็กที่สนใจได้รู้ว่าอนาคตหากเข้ามาเรียนจะมีงานที่เข้ามารองรับจากบริษัทต่างๆที่พร้อมเข้ามาลงทุน และในตอนนี้สจล.มีโครงการที่จะประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันในเรื่องของธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจะทำให้เด็กได้เห็นภาพที่น่าสนใจ อีกทั้งธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังเป็นอนาคตของโลก
“ปัจจุบันมีบริษัทจากทั้งอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB เข้ามาติดต่อกับทางสจล.เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการวิจัยและการผลิตกำลังคน เพราะว่า บริษัทเหล่านี้มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านนี้ ซึ่งทางสจล.มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยนั้นมีความซบเซามาเป็นเวลานาน หากไม่มีการช่วยเหลือเพื่อให้อุตสาหกรรมด้านนี้มีความก้าวหน้าในประเทศ บริษัทที่สนใจจะมาลงทุนอาจจะไปลงทุนกับประเทศอื่น โดยสจล.และอีกหลายมหาวิทยาลัยรวมถึงภาครัฐพร้อมที่จะทำให้อุตสาหกรรมด้านนี้เติบโตในประเทศไทย”นายคมสันกล่าว
นายคมสัน กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ชี้ให้เห็นว่ามีบริษัทจากต่างประเทศมากกว่า 40 บริษัทพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าบริษัทเหล่านี้มีความต้องการกำลังคนทั้งในระดับวิศวกร และ ช่างเทคนิค รวมกันแล้วภายใน 3 ปีประมาณ 10,000 คน ซึ่งกำลังคนทางด้านนี้ในประเทศอาจจะมีการรองรับอยู่บ้าง แต่ก็ต้องมีการผลิตเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ตอบโจทย์กับทุกบริษัทที่เข้ามาลงทุน ส่วนตัวมองว่าศักยภาพในการผลิตคนให้ตอบโจทย์และมีคุณภาพ ไม่น่าเป็นห่วงถ้ามีการร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย
อธิการบดีสจล. กล่าวด้วยว่า การที่จะผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมทั้ง 2 ต้องไม่ใช้การผลิตนักศึกษาตามระบบ 4 ปีเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำบุคคลที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆหรือผู้ที่ต้องการเรียนรู้มาอัพสกิล รีสกิล เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆปรับเปลี่ยนเพื่อให้พร้อมทำงานและตรงกับความต้องการของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆอย่างเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB โดยวิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 6 เดือนถึง 1 ปีในการผลิตกำลังคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้ง 2 ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทต่างๆได้เร็วยิ่งขึ้น และเนื่องจากกำลังคนด้านนี้เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก หากจบการศึกษาด้านนี้จะมีภาคอุตสาหกรรมรองรับอย่างแน่นอนและถือเป็นงานที่มีความมั่นคงต่อไปในอนาคต ซึ่งอัตราเงินเดือนของบุคลากรระดับวิศวกรจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท และระดับช่างเทคนิคจะอยู่ที่ 12,000 – 20,000 บาท
“สจล.ไม่ได้ผลิตกำลังคนในระดับวิศวกรเพียงอย่างเดียวแต่ยังมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรระดับ ช่างเทคนิค อีกด้วย ซึ่งในตอนนี้มีอีกหลายแนวทางในการพัฒนาทักษะบุคคลเหล่านี้ เช่น การนำนักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มาเรียนต่อปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือ การเปิดหลักสูตรสำหรับช่างเทคนิคโดยเฉพาะด้วยเช่นกัน เพราะความต้องการบุคลากรระดับช่างเทคนิคนั้นมีสูงมาก ในส่วนนี้ยังต้องการการผลักดันอยู่อีกพอสมควรในการผลิตช่างเทคนิคที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับระดับวิศวกร และหากทำสำเร็จจะมีอีกหลายบริษัทที่พร้อมรับช่างเทคนิคเหล่านี้เข้าทำงานและให้เงินเดือนในอัตราที่เหมาะสม”นายคมสัน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รองเลขาฯกสทช. มั่นใจ ถ้าโฟกัสจุดแข็ง ไทยพร้อมเป็น ‘ปท.อุตสาหกรรม’ พร้อมรับนักลงทุน
- ผู้ช่วยคณบดีสจล. ลั่น เราเหนื่อยแน่ ‘อุตสาหกรรมล้ำ’ เสิร์ฟบัณฑิตไม่ทันใช้ แนะรัฐเร่งอัพสกิล
- ปธ.กมธ.ห่วงไทย ‘ตามไม่ทัน’ ยังเป็น ‘อุตสาหกรรมเก่า’ ฝากโจทย์หยุดอนาคต ‘ถังรับขยะ’
- ไทยเนื้อหอม! เลขา BOI ชี้วงลงทุนPCB ทะลุ 2 แสนล้าน ‘ยืนหนึ่งอาเซียน’ จ่อพัฒนาคน-กระจายผลิตทั่วภูมิภาค