ป.ป.ช.ตรัง สุ่มตรวจโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐ เจอเมนูอาหารกลางวันเด็กไม่ตรงปก จ่ายเงินเดือนครูด้วยเงินสด มีแต่ชื่อนักเรียนแต่ไร้ตัวตนจริง ขณะที่ส่วนหนึ่งแยกไปเรียนโรงเรียนศาสนาซึ่งไม่มีหลักสูตรการเรียนแน่ชัด สัปดาห์เรียนวิชาสามัญ 2 วัน เรียนศาสนา 5 วัน ส่งเรื่องศึกษาธิการตรังดำเนินการ
อาหารกลางวัน – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต พร้อมด้วยเจ้าพนักงานฝ่ายป้องกัน ป.ป.ช.ตรัง ชมรมตรังต้านโกง และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่สุ่มตรวจ โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐ โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นประถม 101 คน เด็กอนุบาล 31 คน เงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน 132 คน รายหัว 22 บาท มีครูบรรจุ 24 คน
จากนั้นได้ลงตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันเด็ก ทางโรงเรียนได้จัดตารางเมนูอาหารในแต่ละวันไว้ แต่ปรากฏว่าวันนี้ เมนูอาหารเด็กอนุบาลไม่ตรงกับเมนูที่ระบุไว้ คือไข่พะโล้ องุ่นเขียว ปูอัดทอด มีเพียงถั่วงอกผัดเพียง 1 อย่าง กับขนมขบเคี้ยว แต่เมื่อไปดูเมนูของเด็กประถม เมนูที่ระบุไว้ ไข่พะโล้ ผัดเผ็ดลูกชิ้น แกงกะทิไก่ใส่มะเขือ เมื่อสอบถามว่ามีไข่พะโล้แล้วทำไมไม่ให้เด็กอนุบาลกิน ทางโรงเรียนอ้างว่า ตื่นเต้นที่ ป.ป.ช.มาตรวจ เลยเกิดความผิดพลาดลืมเอาไข่พะโล้มาให้เด็ก พอจะเอามาให้เด็กก็กินอิ่มกันหมดแล้ว และเห็นว่าอาหารส่วนใหญ่ไม่ตรงกับโภชนาการของเด็กด้วยทั้งปริมาณน้อย
หลังจากนั้นได้สุ่มตรวจห้องทำการเรียนการสอน โดยการขานชื่อนักเรียน จำนวน 3 ห้อง พบว่า ชั้นมัธยม 1/2 รายชื่อนักเรียนมี 31 คน มีตัวตน 14 คน ชั้นมัธยม 2/2 มีรายชื่อ 31 คน มีตัวตน 13 คน ชั้นมัธยม 2/3 มีรายชื่อ 30 คน มีตัวตน 12 คน ไม่มีตัวตน 15 คน ซึ่งจากการลองขานชื่อพบว่าเด็กในชั้นเรียนบอกว่าไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จัก โดยทางสถานศึกษาอ้างว่า เด็กจำนวนดังกล่าวไปเรียนฮาฟิสที่ มัดรอซะฮ์ อารอบียะฮ์ ซัมซุลอุลูม สถาบันสอนศาสนาอิสลามและท่องจำมหาคำภีร์อัลกุรอ่าน ปะเหลียนโรงเรียนส่งไปมีจำนวน 150 คน เด็กเหล่านี้มาเรียนเพียงวิชาสามัญเท่านั้น เนื่องจากเป็นเจตนารมณ์ของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเน้นเรียนเกี่ยวกับศาสนาโดยตรง
ต่อทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศึกษาธิการตรัง เดินทางไปยัง โรงเรียนสอนศาสนา มัดรอซะฮ์ อารอบียะฮ์ ซัมซุลอุลูม ที่ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน สถาบันสอนศาสนาอิสลามและท่องจำมหาคำภีร์อัลกุรอ่านสถานที่แห่งนี้เป็นอาคารห้องแถวชั้นเดียวหลายหลัง ซึ่งเป็นทั้งที่พักของนักเรียน และห้องเรียน ซึ่งจากการสอบถามครูผู้สอนที่นั่น ทราบว่า ครูใหญ่ได้ไปแสวงบุญต่างประเทศ ส่วนนักเรียนที่มาเรียนที่นี่ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนเอกชนดังกล่าวส่งมา
เมื่อสอบถามว่าการมาเรียนที่นี่ต้องทำอย่างไร หลักเกณฑ์การเข้าเรียน หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบไหนก็ไม่ได้รับคำตอบ รายชื่อนักเรียนมีเพียงเลขประจำตัว ครูไม่รู้ชื่อไทยของนักเรียนเรียกแต่ชื่ออิสลามเท่านั้น ส่วนเด็กที่มาเรียนที่นี่ต้องเรียนและอยู่ที่นี่สัปดาห์ละ 5 วัน โดยให้เหตุผลว่าหากเรียนแบบรายชั่วโมงนักเรียนไม่ได้ความรู้อะไร ส่วนวันเสาร์วันอาทิตย์ก็ให้กลับไปเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียน จากการลองขานชื่อนักเรียนที่โรงเรียนเอกชนต้นเรื่องส่งมาเรียน พบว่ามีบ้างประปราย บางส่วนก็กลับบ้าน บางส่วนก็ไม่มีตัวตน
นางส้าหลี้เฝาะ ตำแหน่งผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนดังกล่าว เผยว่า จากกรณีที่ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรังลงมาตรวจสอบ ประเด็นที่ 1 กรณีที่ว่าเด็กนักเรียนที่ปรากฏอยู่ในห้องเรียนรายชื่อไม่ตรงกันนั้น ตามปกตินักเรียนอยู่กันครบ และนักเรียนไปเรียนวิชาศาสนาไปเข้าคอร์สเหมือนกับเราไปเรียนสารพัดช่างหรือการอาชีพ ไปอาทิตย์ละ 2 วัน 1 เทอม 2 เดือน แต่ทางโรงเรียนให้เรียนชดเชย เสาร์-อาทิตย์ เวลาได้ครบและได้สอบได้เป็นนักเรียนปกติ แต่นักเรียนอยู่ปกติที่นี่ ซึ่งเด็กนักเรียนมาอยู่ที่นี่ประจำ แต่ไม่ได้เรียนรวมกับเพื่อนร่วมชั้น คนที่ไปจะมาเรียนอีกห้องเฉพาะพวกที่ไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมชั้น และครูที่สอนนักเรียนเหล่านี้เป็นครูต่างหากครูมีอยู่ตอนนี้ ส่วนรายชื่อนักเรียนที่มีไม่ใช่นักเรียนทิพย์มีตัวตนจริงๆ วันไหนที่เด็กไม่ไปเรียนจะอยู่ครบ ส่วนเด็กที่มีรายชื่อเรียนจริงๆ ที่โรงเรียนตอนแรกเขาก็มาสมัครเรียนที่โรงเรียนอยู่ปกติ แต่มีช่วงหนึ่งที่ผู้ปกครองเขาต้องการให้ลูกได้ศาสนาเยอะ เลยส่งไปเรียนคอร์สพิเศษที่ทางไปน้ำตกโตนเต๊ะ
อยากให้ท่านสบายใจว่า โรงเรียนจะโปร่งใสทุกอย่าง หากบกพร่องส่วนไหนพร้อมยินดีแก้ไขเพื่อให้เด็กไทยของเราอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง อย่าให้เขาหลอกลวงประชาชน หลอกลวงตัวเอง เพราะฉะนั้นโรงเรียนของตนมีจุดประสงค์ไม่ได้อยากรวย ไม่ได้อยากทำธุรกิจแต่อยากทำเพื่อพัฒนาเยาวชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา
เมื่อถามถึงจากการลงไปตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันเด็กพบว่าเมนูอาหารกลางวันไม่ตรงกับเมนูที่แจ้งเอาไว้ อาหารที่เด็กปฐมวัยได้รับมีเพียงแค่เมนูเดียวนั้น ตรงนี้ปกติ ไม่ได้แก้ตัววันอื่นที่ไปดูมันมีพร้อมตามนั้น ทั้งนี้ตนเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ชี้แจงตามหัวหน้าที่รับผิดชอบ แต่วันนี้ยอมรับว่าเมนูของอาหารไม่ตรงจริงๆ ทั้งนี้จะปรับปรุงแก้ไขและจะลงไปดูเอง พร้อมที่จะปรับปรุงตรงนี้
ขณะที่ นายอดิศร แก้วเซ่ง รองศึกษาธิการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในฐานะของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรัง ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนเอกชนในจังหวัดอยู่วันนี้ได้ลงมาดูโรงเรียนเอกชนแห่งนี้พร้อมกับ ป.ป.ช.ตรัง ซึ่งผลที่เราพบประสบ ก็คิดว่านักเรียนของโรงเรียนก็มีบางส่วนที่มาเรียนกับศูนย์การเรียนข้างนอก ก็คิดว่าโรงเรียนในระบบจริงๆ แล้ว ก็สามารถที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ 3 ระบบ ด้วยกัน 1.ในระบบโรงเรียน 2.นอกระบบโรงเรียน 3.ตามอัธยาศัย คิดว่านักเรียนบางส่วนที่มาเรียนอยู่ที่ศูนย์การศึกษาที่อำเภอปะเหลียนก็น่าจะเป็นการเรียนนอกระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนา แต่ทีนี้ตามที่สอบถามคุณครูอยู่ที่ศูนย์การเรียนที่ปะเหลียนก็พบว่าเด็กมาเรียนศาสนาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์จะกลับไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนเอกชน ซึ่งเดี๋ยวการที่โรงเรียนเขามีการเรียนการสอนแบบนี้ ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรังก็จะไปศึกษารายละเอียดอีกรอบว่าจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ ว่ามาเรียนที่ศูนย์ข้างนอกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ไปเรียนในระบบวันเสาร์ วันอาทิตย์จะได้หรือไม่ จะไปดูรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกรอบหนึ่ง
เมื่อถามว่าสัดส่วนการเรียน 5:2 จะเหมาะสมหรือไม่ วันทำการมาอยู่ที่นี่ทั้งหมด ตนมองว่าจริงๆ ถ้าโรงเรียนขอระบบทำการสอนในระบบโรงเรียนอย่างเดียวได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ จริงๆ แล้วเด็กต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น เผอิญว่าโรงเรียนแห่งนี้เขาสอนแบบควบคู่สอนศาสนาอิสลามคู่กับสายสามัญก็มีบางส่วนที่เขาจะเรียนข้างนอกได้ เขาเรียนแบบตามอัธยาศัย ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะไปดูรายละเอียดอีกรอบว่าจะได้หรือไม่ การที่อ้างว่าเป็นความประสงค์ของผู้ปกครองจริงๆ แล้วไม่สามารถอ้างได้ การอ้างได้ต้องอ้างด้วยข้อกฎหมายเท่านั้นเองว่าจะเปิดการเรียนการสอนตามอัธยาศัยได้หรือไม่ ในส่วนหลักเกณฑ์หลักการเรื่องจำนวนเด็กที่หายไป มันมีบางส่วนเหมือนกันที่เรามาตรวจสอบดูแล้วว่าไม่มีชื่อของเด็กที่อยู่ในระบบ เดี๋ยวอย่างไรก็แล้วแต่เราจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไปว่านักเรียนที่หายไปอยู่อย่างไร
ส่วนทางด้าน นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ก็ปรากฏในเรื่องของอาหารกลางวัน ว่าในเรื่องปริมาณและคุณภาพเพราะว่าเด็กอนุบาลได้รับการจัดสรรหัวละ 22 บาท ซึ่งดูเบื้องต้นน่าจะไม่คุ้มค่าตามหลักโภชนาการ ก็ต้องให้ทางศึกษาธิการจังหวัดที่เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนต้องตรวจสอบต่อไป ส่วนเรื่องของจำนวนนักเรียนจากการตรวจสอบเบื้องต้น ก็ไม่ปรากฏชื่อนักเรียนที่อยู่ในห้องของโรงเรียนเอกชนแห่งนี้ ซึ่งทางโรงเรียนได้ให้ข้อมูลว่าได้ส่งเด็กนักเรียนมาเรียนโรงเรียนศาสนา แต่ตามระเบียบแล้วเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนก็ต้องเรียนทุกวันที่โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน ไม่สามารถที่จะส่งไปเรียนที่อื่นได้
ซึ่งพอมาสุ่มตรวจที่โรงเรียนสอนศาสนาก็พบว่ามีบางรายที่ไม่ปรากฏชื่ออยู่ในโรงเรียนที่โรงเรียนเอกชนซึ่งเขาเข้าใจว่าส่งเด็กมาเรียนต่อที่โรงเรียนศาสนา ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องเรียนที่โรงเรียนเอกชนแห่งนี้ไม่สามารถที่จะไปส่งต่อเรียนที่อื่นได้ และในเรื่องของการสอนหลักสูตรสามัญต่างๆ ที่จะต้องมีการเรียนการสอนการสอบการประเมินเดี่ยวทางศึกษาธิการต้องไปตรวจสอบต่อไปอีกครั้ง เงินอุดหนุนเป็นเงินของรัฐ ทางศึกษาธิการก็ต้องตรวจสอบว่าอุดหนุนต่างๆ ไปเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร รวมทั้งรายบุคคลที่รับเงินอุดหนุนเงินเดือนของครูที่เขาชี้แจงมาว่ามีการจ่ายเงินเดือนครูเป็นเงินสด ซึ่งตามระเบียบต้องจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารไม่สามารถที่จะจ่ายเป็นเงินสดได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัดจะต้องไปดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป หากไม่ดำเนินการ ปรากฏว่ามีการเบิกเท็จมีหัวไม่ตรงกับรายชื่อจำนวนต่างๆ ก็ต้องมีการเรียกเงินคืนต่อไปหรือดำเนินการทางอาญาต่อไป ก็ว่ากันไป
ด้าน นายพรชัย นาคพล คณะกรรมการชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีหลายเรื่องที่ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ ไปเจอในสิ่งที่ค่อนข้างเห็นแล้วจะต้องทำการปรับปรุงในแต่ละอย่างที่นั่น ก็ได้คุยกันว่าจะเปิดให้ได้ทำการปรับปรุงในเรื่องนั้นๆ แต่ในฐานะที่เราเองเป็นภาคประชาชนมาร่วมตรงนี้เพียงไปเห็นและก็บอกเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ให้กับทาง ป.ป.ช.เขาดูแล และส่วนที่ต่อยอดจากโรงเรียนแสงธรรมฯส่งนักเรียนที่มีรายชื่อที่โน่นแล้วมาเรียนศาสนาที่นี่ แต่มาตรวจสอบที่นี่ให้เห็นว่ารายชื่อมีค่อนข้างประปราย คือมีไม่พร้อมกับจำนวนที่เด็กมีอยู่จริงๆ แต่ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะต้องมีการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของทาง ป.ป.ช. แต่ในฐานะของภาคประชาชนแค่เพียงมองเห็นว่า ระเบียบของที่นี่ก็ต่างไปจากที่อื่น ไม่เหมือนโรงเรียนปกติ คล้ายๆ เป็นโรงเรียนตามอัธยาศัยไป หลักฐานต่างๆ ไม่มีอะไรให้ดูให้ตรวจสอบเป็นชิ้นเป็นอันได้เลยว่าที่นี่มีระเบียบอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อถามทางผู้ช่วยศึกษาธิการน่าจะมีการตั้งคณะขึ้นมาตรวจสอบ