ห่วงนโยบายการศึกษารัฐบาล ‘อิ๊งค์1’ ไม่ตรงปก คาดสำเร็จจริงแค่25% 

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า เท่าที่ดูนโยบายด้านการศึกษา ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล “อิ๊งค์1” สามารถเขียนได้ดี ครอบคลุมการจัดการศึกษาทุกระดับ มีความยืดหยุ่น และมีการปฏิรูปการจัดการศึกษาเฉพาะ ทั้งด้านการอาชีวศึกษาและด้านการอุดมศึกษา รวมถึงมีการสานต่อนโยบายของเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีคำสำคัญคือ สร้างสังคมทุกช่วงวัย เน้นการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ มีคำว่าการเรียนรู้ ที่ยืดหยุ่น จากเดิมที่ระบบการศึกษามีความแข็งตัว มีคำว่า มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ หรือ Learn to Earn ซึ่งเป็นค่านิยมของเด็กยุคใหม่ ที่สำคัญมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาใช้ในการจัดการศึกษา ส่วนเรื่องสำคัญที่สานต่อจากรัฐบาล นายเศรษฐา คือ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา กว่า 1.02 ล้านคน

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายสำคัญ ของการจัดการศึกษาระยะยาวและระยะกลางของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร แต่เมื่อมองรายละเอียดกลับพบว่า นโยบายด้านการศึกษากลับอ่อนลง ขาดความมุ่งมั่นทางการเมือง และเชื่อว่า จะสามารถขับเคลื่อนให้สำเร็จจริงได้ไม่เกิน 25% ส่วนหนึ่งเพราะพรรครัฐบาลไม่ได้ดูแล ศธ.ด้วยตัวเอง ขณะที่พรรคที่ดูแลศธ. ก็มีนโยบายเฉพาะของพรรค คือ เรียนดี มีความสุข การแก้ปัญหาหนี้สิน ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นการเน้นคนละด้าน ทำให้การดำเนินการตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลอาจจะไม่ตรงปกมากเท่าที่ควร ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้นโยบายด้านการศึกษา ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านการศึกษาและสังคม จะต้องพูดคุยเพื่อดูรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลและของพรรคภูใจไทย เพื่อหาจุดร่วมในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน

“สำหรับเรื่องที่ผมอยากให้สานต่อ คือ การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน และการติดตามเด็กกว่า 1.02 ล้านคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ส่วนปัญหาใหญ่คือ การปฏิรูปการอาชีวะ และการปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ศธ. แทบไม่ได้ทำอะไร อาชีวศึกษายังเต็มไปด้วยความรุนแรง คนยังมีค่านิยมไม่อยากส่งลูกเข้าเรียนสายอาชีพคงที่อยู่ที่ ร้อยละ30 ส่วนระบบทวิภาคี ยังไม่เห็นภาพการขับเคลื่อนที่ชัดเจน ขณะที่การปฏิรูปการอุดมศึกษา ก็แทบไม่เห็นความคืบหน้า กว่า 1 ปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นการโปรโมตให้คนรู้จัก กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มากกว่า ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาการอุดมศึกษา ซึ่งมีปัญหาสะสม เหมือนน้ำแข็งโผล่ยอดภูเขาไม่ว่าจะเป็น เสรีภาพทางวิชาการ ที่ถูกก้าวก่าย จำนวนมาก รวมถึงยังมีปัญหา ภาระงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ทุกวันนี้ทำหน้าที่เหมือนกรรมกรวิชาการ ขณะที่งานวิจัยที่ออกมาส่วนใหญ่ ยังไม่เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ หรือทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเกิดการสานต่อ กว่า ร้อยละ50 เป็นประโยชน์กับบุคลากรกับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 33 เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ ร้อยละ8 เป็นประโยชน์เชิงนโยบาย ซึ่งถือว่าต่ำมาก ไม่ใช่การวิจัยเพื่อพัฒนาอย่างแท้จริง ที่สำคัญ อยากให้อว. ลงไปสัมผัสแก่นสาระของนักศึกษา แสงหาปัญหาและข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้ ” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image