มหา’ลัย เร่งผลิต ช่างเทคนิค-วิศวกร 7 หมื่นคน ตอบโจทย์ 50บริษัทอุตสาหกรรมพีซีบีต่างชาติ เผยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีอุตสาหกรรมPCBเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 50 บริษัทโดยลงทุนไปแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอันดับต้นๆของประเทศไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้มีการเข้ามาพูดคุยกับมทม.ว่าภายใน 2 ปีทางภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการกำลังคนทางด้านนี้ รวมกันแล้วกว่า 70,000 คน โดยแบ่งเป็นบุคลากรระดับช่างเทคนิค 50,000 คน และอีก 20,000 คน เป็นระดับวิศวกร ด้วยเหตุนี้มทม.จึงร่วมมือกับสมาคมแผงวงจรแห่งประเทศไทย หรือ THPCA และ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC ในการผลิตบุคลากรเหล่านี้แบบระยะสั้นโดยการอัพสกิล รีสกิลซึ่งไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่เข้ามาเรียนจะต้องจบการศึกษาเกี่ยวกับด้านอิเล็กทรอนิกส์หรือไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวแต่ผู้ที่จบด้านที่เกี่ยวกับหลักสูตรที่ใกล้เคียงอย่างเช่น วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมเครื่องกล ก็สามารถที่จะเข้ามาเรียนหลักสูตรระยะสั้นของมทม.ได้
นายภานวีย์ กล่าวต่อว่า มทม.ยังมีการจัดทำศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ และถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีโรงงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรม PCB ของจริงเข้ามาตั้งอยู่ภายในมทม. ซึ่งงบประมาณทาง THPCA เป็นผู้จัดหามาให้อยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีการวิจัยรูปแบบการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D และจะนำการวิจัยไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม PCB ในการทำ PCB ขั้นสูง
“วิธีนี้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ทันที โดยที่สำคัญยังแก้ปัญหาในเรื่องของจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงจนส่งผลให้มีนักศึกษาเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาน้อยลงเช่นกันซึ่งกลุ่มคนที่อายุเกิน 35 ปียังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นการที่มีหลักสูตรระยะสั้นนี้จะเป็นการช่วยพัฒนาอัพสกิลรีสกิลคนที่เป็นประชากรหลักได้ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยปกติจะสามารถผลิตได้ปีละ 400 คน และคาดว่าจะสามารถผลิตได้หลักพันคนต่อปีหากสามารถขยายผลการทำงานของเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ได้อย่างเต็มที่”นายภานวีย์ กล่าว
นายภานวีย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการผลิตบุคลากรในระยะกลางถึงระยะยาวมทม.ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วยการทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ และยังได้ร่วมกับ Imperial College London ในการส่งบุคคลที่มีความสามารถไปเรียนระดับปริญญาเอกทางด้านเซมิคอนดักเตอร์และแอดวานซ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำหรับนักศึกษาของมทม.ในหลักสูตรวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถผลิตบุคลากรออกไปได้ประมาณ 500 คนต่อปี โดยในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่ได้ร่วมทำกับอว.จะมีโครงการสหกิจศึกษาแต่จะเน้นไปทางเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลักซึ่งมทม.และ THPCA ได้มีการพูดคุยเพื่อจะไปเสนอกับอว.ให้มีการเปิดโครงการสหกิจศึกษากับอุตสาหกรรมทางด้าน PCB ด้วยเช่นกันซึ่งจะมีบริษัทที่รองรับนักศึกษากว่า 50 บริษัทแน่นอน
“บริษัทเหล่านี้จะต้องการเด็กเข้าไปฝึกในบริษัทอย่างแน่นอนและยังสามารถยื่นข้อเสนอในเรื่องของตำแหน่งและเงินเดือนให้กับเด็กที่ได้รับโอกาสเข้าไปฝึกให้สามารถเข้าไปทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา โดยในตอนนี้มีบริษัทเข้ามาแล้ว 50 บริษัทแต่ยังมีแผนอีก 2 ปีในเรื่องของการส่งออกที่จะได้เม็ดเงินกว่า 120 ล้านดอลลาห์สหรัฐและภายในปี 2027 จะกลายเป็น 6.5 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ฉะนั้นถ้าเกิดประเทศไทยมีความพร้อมมันจะสามารถดึงบริษัทชั้นนำต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไทยจะต้องมีองค์ความรู้ที่ดีและแสดงถึงศักยภาพที่จะรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ได้เพราะหากประเทศอื่นมีข้อเสนอที่ดีกว่าให้กับบริษัทด้านนี้ไทยก็จะเสียโอกาสตรงนี้ไป”นายภานวีย์ กล่าว
นายภานวีย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการผลิตบุคลากรระดับช่างเทคนิคซึ่งถือเป็นกำลังคนหลักที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ นอกจากการอัพสกิลรีสกิลแล้ว มทม.ยังเข้าไปร่วมทำงานกับวิทยาลัยต่างๆผ่านทางสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในการให้เข้ามาเรียนรู้กับเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ของมทม.ได้ โดยสำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนมทม.ได้ของบประมาณกับทางอว.และรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุนเงินมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ต่อหนึ่งหลักสูตรซึ่งอีก 10 เปอร์เซ็นต์จะมีภาคอุตสาหกรรมที่ให้การสนับสนุน ฉะนั้นเด็กที่เข้ามาเรียนแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้องค์ความรู้ที่สามารถเข้าไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรมได้
“การเข้ามาทำงานในภาอุตสาหกรรมทั้งเซมิคอนดักเตอร์และPCBจะมีงานที่รองรับและมั่นคงอย่างแน่นอน ซึ่งอัตราเงินเดือนของระดับวิศวกรจะอยู่ที่ 20,000 – 30,000 บาท ส่วนระดับช่างเทคนิคจะอยู่ที่ 12,000 – 15,000 บาทยังไม่รวมการทำงานนอกเวลาที่จะสามารถทำเงินได้ถึง 20,000 บาทต่อเดือน”นายภานวีย์ กล่าว