‘หมอธี’ ย้ำบูรณาการไม่ใช่แค่กระดาษ ศธ.ปลื้ม30หน่วยงานลุยพัฒนาเด็กปฐมวัย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวระหว่างการประชุม “บทบาทและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง เพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติ” ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ได้หารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพัฒนาการปฐมวัย เพื่อวางกรอบแนวทางบูรณาการความเข้าใจแนวทางการดำเนินการระหว่างกระทรวงหลัก เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และศธ. รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้ รองรับการศึกษาภาคบังคับที่มีผลบังคับเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศใช้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ใช่แค่บูรณาการกันในกระดาษเท่านั้น

“ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายน่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะการสร้างรูปแบบกลไกที่ชัดเจนบูรณาการคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่เจ้าภาพขับเคลื่อนหลักและกำกับดูแลมาตรฐานการพัฒนาเด็กปฐมวัยของทุกหน่วยงาน ทั้งนี้ข้อมูลจำนวนเด็กปฐมวัยที่อยู่ในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาเอกชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สะท้อนอัตราการเข้าถึงเด็กอยู่ในเกณฑ์ดี และเด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ข้อมูลเด็กเล็กวัย 0-3 ขวบ มีเพียงไม่เกินร้อยละ 10 ที่ยังไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งทาง สกศ. สรุปตัวเลขมีเด็กประมาณ 500,000 คน อยู่ในระบบการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจำนวนนี้ 60,000 คน ระดับอนุบาล และอีก 430,000 คน อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดย ศธ. เน้นพัฒนาการจัดการศึกษา และปรับรูปแบบการพัฒนาเด็ก พร้อมเร่งการจัดการศึกษาเพิ่มเติมระดับอนุบาล และปรับเพิ่มงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวอย่างเหมาะสม สร้างการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกระดับในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ” รัฐมนตรีว่าการศธ.กล่าว

ด้านนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. พร้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติ เน้นขับเคลื่อนเชิงวิชาการด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กเล็ก ทั้งนี้ สกศ. ได้เสนอแนวทางขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก 1.ด้านการบริหารจัดการศึกษา ซึ่งสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ควรเข้ามาดูแลภาพรวมฐานข้อมูลเด็กเล็กทั้งระบบ เพื่อประสานข้อมูลไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ช่วยตรวจสอบและเพิ่มเติมข้อมูลปัจจุบัน รวมถึงกำหนดผู้รับผิดชอบ จัดการศึกษาในพื้นที่ให้ชัดเจน หาก อปท. มีความพร้อมควรมอบท้องถิ่นดำเนินการ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรเสริมในพื้นที่ขาดแคลน ไม่ซ้ำซ้อนกัน และยึดตามความพึงพอใจของคนในพื้นที่ พร้อมจัดสรรทรัพยากรอื่น ๆ เช่น งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัว หรือเงินอุดหนุนต่าง ๆ และ 2.ด้านรูปแบบการพัฒนาเด็ก สกศ. เห็นว่าควรมีรูปแบบพัฒนาเด็กเล็ก 3 โมเดลรองรับ คือ เรียนในสถานศึกษา หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่แล้ว วางหลักสูตรการเรียนการสอนที่บ้าน และทางเลือกการศึกษารูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับชุมชน ในส่วน ศธ. พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ โดย สกศ. เน้นการสร้างมาตรฐานพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกสังกัดได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งพัฒนาการด้านร่างกายมีความแข็งแรง รวมทั้งมีสุขภาพ พลานามัย อนามัย สติปัญญา และอารมณ์ที่มีความสมบูรณ์ โดย สกศ. จะเร่งสรุปแนวทางการบูรณาการเพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนเพื่อรายงานรัฐมนตรีว่าการศธ.กำหนดนโยบายดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image