‘หมอธี’ ปัดป่าวขัดแย้งผู้แทนครู หลัง คสช.ใช้ ม.44 สั่งโละที่นั่งในบอร์ด ก.ค.ศ.

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อการจัดระบบการศึกษาของชาติให้มีมาตรฐานทั้งในด้านหลักสูตรการเรียนการสอน และในด้านบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อให้การปฏิรูประบบการศึกษาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านประชามติ ที่รอการประกาศใช้ จำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูฯ รวมทั้ง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอื่น ที่จะสนับสนุนการบริหารงานด้านบุคคลให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า การปรับปรุงองค์กรกลางการบริหารงานบุคคลฯ มี 2 ส่วน คือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ โดยในส่วนของคณะกรรมการ ก.ค.ศ.นั้น จะทำหน้าที่เชิงนโยบายมากขึ้น ในหลักการเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการจากเดิม 31 คน เหลือ 15 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 9 คน เหลือ 3 คนในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย ส่วนผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน และผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รวมถึง กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะไม่มีในคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ใหม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้แทนครูฯ จะไปอยู่ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ ที่จะมีในเบื้องต้น 3 ชุด จากเดิมที่มี 11 ชุด เพื่อทำการแทน ก.ค.ศ.โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญแต่ละชุด จะลดจำนวนเหลือไม่เกิน 15 คน จากเดิมที่เคยมีคณะละ 14-23 คน ส่วน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจที่มีอยู่ประมาณ 200 คณะ ยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดใหม่ต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนครูฯ ใน อ.ก.ค.ศ.วิสามัญชุดต่างๆ

นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ยังให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูฯ เป็นการปลดล็อคการปรับระบบการสอบแข่งขัน ที่อนาคตจะให้ส่วนกลางเป็นผู้จัดสอบภาค ก หรือความรู้ทั่วไปเช่นเดียวกับการสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แต่ ก.ค.ศ.ยังมอบอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการแทนได้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวว่า การตัดผู้แทนครูจากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง หรือมองว่าเป็นศัตรู แต่เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ สามารถปรับแก้กฏระเบียบต่างๆ ให้รวดเร็ว เพื่อผลประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา คสช.มีคำสั่งยกเลิก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และต้องปรับคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ให้สอดคล้องกัน โดยผู้แทนครูไปทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญกลั่นกรองงานเสนอ เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะได้ทำความเข้าใจกันแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image