ปมพิพาทตั้งสังฆราช พศ.เคลียร์ 5 ข้อแจงรัฐบาล

หมายเหตุ – จากกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับการเสนอรายชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ดูแลกำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จึงได้ทำหนังสือถึง พศ.ให้รวบรวมข้อมูลของฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้าน เพื่อให้รัฐบาลใช้ประกอบในการพิจารณา ซึ่ง พศ.ได้รวบรวม และตอบคำถามต่างๆ โดยเตรียมส่งหนังสือดังกล่าวกลับไปให้นายสุวพันธุ์แล้ว

1.ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการเสนอนามพระนามสมเด็จพระสังฆราช

1.1 ฝ่ายสนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

1.1.1 กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ทั้งหมด โดยเฉพาะผู้นำเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ต่อที่ประชุม มส.คือ สมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต วัดบวรนิเวศวิหาร

1.1.2 คณะสงฆ์โดยภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งฝ่ายธรรมยุต และมหานิกาย ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ในที่ประชุมการอบรมพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่จากทั่วประเทศประมาณ 280 รูป ที่วัดสามพระยา มีผู้เสนอขอพักการอบรมชั่วคราวเพื่อไปร่วมชุมนุม แต่ผู้แทน มส.ไม่อนุญาต และขอร้องว่าเมื่อท่านรัฐมนตรีมาบรรยายพิเศษ ขออย่าถามประเด็นละเอียดอ่อนเหล่านี้

Advertisement

1.1.3 เครือข่ายองค์กรชาวพุทธเกือบทั้งหมด โดยมีศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาเป็นแกนนำ

1.1.4 มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) โดย มจร. นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร. ได้นัดรวมตัวคณะสงฆ์ และพุทธบริษัท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ที่พุทธมณฑล และการให้สัมภาษณ์สื่อ ส่วน มมร.เริ่มออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 โดยจัดเสวนาเชิงวิชาการ เฉพาะพระสงฆ์สายธรรมยุตนิกายล้วนๆ ที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม มีพระราชญาณกวี (เจ้าคุณสุวิทย์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า ออกมาวิพากษ์สร้างความกระจ่างต่อสังคมในหลากหลายมุมมอง

1.2 ฝ่ายคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

1.2.1 พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม

Advertisement

1.2.2 นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

1.3 เครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกลุ่มลูกศิษย์ของพระพุทธะอิสระ

2.ความเห็นและท่าทีของสังคมต่อกิจกรรมของคณะสงฆ์ และวัดพระธรรมกาย

2.1 คณะสงฆ์ ชาวพุทธที่อ้างตนว่าเป็นชาวพุทธเชิงวิชาการ และลูกศิษย์สันติอโศก และลูกศิษย์ของพระพุทธะอิสระ ออกมาโจมตีกิจกรรมของคณะสงฆ์ทั่วประเทศ

2.2 วัดพระธรรมกาย เป็นวัดขนาดใหญ่พิเศษ มีพระสงฆ์สามเณรหลายพันรูป และมีเครือข่ายศูนย์สาขาอยู่ทั่วโลก มีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมงานหลักแสน มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบระเบียบ มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่กระแสข่าวผ่านสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยไม่กล้าเข้า และปฏิเสธการทำบุญกับวัดนี้ แต่ในทางกลับกันเกิดเป็นกระแสความท้าทายให้เข้ามาพิสูจน์ด้วยตัวเอง ทำให้คนใหม่ๆ ไปวัดพระธรรมกายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.สถานะปัจจุบันของคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อ 1 และข้อ 2

3.1 คดีรถโบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของดีเอสไอ แบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ

3.1.1 คดีทางแพ่ง ข้อหาหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หากยกรถให้ทางราชการ หรือชำระค่าเสียภาษีที่ยังขาดอยู่ คดีทางแพ่งก็จะระงับลง

3.1.2 คดีทางอาญา ข้อหาสำแดงเอกสารเท็จต่อทางราชการ ความผิดจะตกอยู่กับผู้นำเข้ารถ และผู้สำแดงเอกสารต่อทางราชการ ส่วนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ซื้อในมือสุดท้าย ตามกฎหมายจะไม่มีความผิด

3.2 คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย

3.2.1 ทางวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย ให้การว่าได้รับบริจาคเงินมาโดยสุจริต และเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน เงินทั้งหมดนำไปใช้ก่อสร้างศาสนสถานตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหมดแล้ว โดยมีเส้นทางการเงินที่ชัดเจน และได้มอบหลักฐานทั้งหมดให้กับทางดีเอสไอแล้ว

3.2.2 การตั้งกองทุนเยียวยา เมื่อเกิดเป็นคดีความคณะลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย เห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องเป็นคดีความยืดเยื้อจะทำให้เสียชื่อเสียงแก่วัด และเห็นว่าสมาชิกสหกรณ์ได้รับความเดือดร้อน จึงได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนเยียวยาแก่สหกรณ์คลองจั่น จำนวน 684 ล้านบาท ทางสหกรณ์คลองจั่นจึงได้มีหนังสือขอบคุณคณะลูกศิษย์วัด และแสดงเจตจำนงไม่ประสงค์ดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับทางวัด และพระธัมมชโย

3.2.3 การตั้งข้อหารับของโจรอาจทำให้เกิด 2 มาตรฐาน ทางดีเอสไอกำลังพิจารณาว่าจะตั้งข้อหารับของโจรกับทางวัด แต่มีกระแสท้วงติงจากโซเชียล

ว่า จะทำให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือไม่ ทำให้วัดและพระสงฆ์ถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย รวมถึงมีการโพสต์ข้อความและภาพถ่ายที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล บริจาคเงินให้พระพุทธะอิสระตั้งโรงเจ จำนวน 10 ล้านบาท

ต่อมานายสนธิถูกดำเนินคดีฉ้อโกงกับธนาคารกรุงไทย จนศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก พระพุทธะอิสระต้องคดีรับของโจรด้วยหรือไม่

4.ขอให้ พศ.จัดทำความคิดเห็น ข้อเสนอ และข้อพิจารณาต่อข้อเสนอ 5 ข้อ ที่เครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ (คสพ.) เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า รัฐบาล และข้าราชการ ได้ดำเนินตามหลักการอย่างไร และได้ดำเนินการเนื่องจากเหตุผลใด

4.1 ข้อเสนอ 5 ข้อที่ คสพ.เสนอต่อรัฐบาล

4.1.1 ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย มีข้อพิจารณาเหตุการณ์จุดชนวนคือผู้ตรวจการแผ่นดิน และดีเอสไอ เข้ามากดดัน มส.ให้พิจารณาอธิกรณ์พระธัมมชโย ซึ่งคณะสงฆ์มองว่าก้าวก่ายการปกครองสงฆ์

4.1.2 ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ รัฐบาลจะต้องปรึกษา และได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน มีข้อพิจารณา ทางรัฐบาลได้แถลงต่อสาธารณชนเป็นสัญญาประชาคมแล้วว่า เรื่องทางคณะสงฆ์ รัฐบาลจะปรึกษา มส.ก่อน เมื่อคราวที่ สปช.ได้เสนอให้แก้ พ.ร.บ.การคณะสงฆ์ ตรวจสอบทรัพย์สินของวัดและพระ

4.1.3 ขอให้นายกรัฐมนตรียึดถือ ดำเนินการตามมติ มส.ที่เสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีข้อพิจารณา คณะสงฆ์ทั่วประเทศทุกระดับชั้นให้ความเคารพสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มาก เพราะเป็นพระมหาเถระที่มีศีลาจารวัตรงดงาม ไม่ถือตัว ให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ต่อวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาโดยตลอด เมื่อมีกระแสคัดค้านโจมตีจากคนบางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศอึดอัด รู้สึกว่าคณะสงฆ์และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์โดนรังแก จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมของคณะสงฆ์ที่พุทธมณฑล คณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินคาดหวังให้รัฐบาลกระทำตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยทูลเกล้าฯเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์โดยเร็ว

4.1.4 ขอให้รัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย พิจารณา หน่วยงานของรัฐใช้กฎหมายที่ทำให้คณะสงฆ์รู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งรังแกแบบ 2 มาตรฐาน เมื่อมีกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนโจมตีคณะสงฆ์ และยื่นหนังสือตามหน่วยงานราชการ กลับได้รับการต้อนรับอย่างดี ทำให้คณะสงฆ์รู้สึกว่ารัฐบาลเลือกข้าง เลือกปฏิบัติ และหาข้อกฎหมายมาดำเนินคดีกับคณะสงฆ์ เห็นได้จากการชุมนุมของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย และการเสวนาของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ปัจจุบันกลายเป็นคลื่นใต้น้ำ โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความยั่วยุของบุคคลบางกลุ่มที่รุนแรง ถือว่าพระถูกย่ำยีด้วยวจีกรรม

4.1.5 ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ มีข้อพิจารณา ภายใต้ภาวะที่คณะสงฆ์รู้สึกว่าถูกรังแก ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันมิให้ศาสนาถูกรังแกไปมากกว่านี้

5.สรุปปัญหาปัจจุบัน

5.1 สาเหตุของปัญหา

5.1.1 พระพุทธะอิสระ และนายไพบูลย์ ซึ่งเคยเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวมวลชน ออกมาโจมตีคณะสงฆ์อย่างต่อเนื่อง โดยระบุเป้าหมายชัดเจนว่ายกเลิก มส.และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ไทย ทำให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศรู้สึกว่าถูกรังแก ไม่เป็นธรรม

5.1.2 คณะสงฆ์พิจารณาว่าภาครัฐเข้าข้างคนไม่กี่คน มารังแกคณะสงฆ์ทั่วประเทศ

5.1.3 คณะสงฆ์อ่อนประชาสัมพันธ์ ขาดการทำความเข้าใจกับสังคมเท่าที่ควร ทำให้มีการนำเรื่องพระภิกษุบางรูปที่มีอาจารไม่เหมาะสมมานำเสนออยู่ในสื่อเป็นระยะ ทำให้ประชาชนบางส่วนมองภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์เสียหาย ทั้งที่พระภิกษุส่วนใหญ่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ

ผลกระทบ

ไม่ควรทำให้คณะสงฆ์เกิดความแปลกแยกจากรัฐบาล เพราะคณะสงฆ์มีฐานมวลชนอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศจำนวนมาก หากคณะสงฆ์พร้อมกันลุกฮือขึ้นทั้งประเทศ จะเกิดผลสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และสังคมไทย และยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะจะกลายเป็นข่าวใหญ่โด่งดังว่ารัฐบาลทหารถือปืนทำร้ายพระสงฆ์ที่ไม่มีทางต่อสู้

แนวโน้ม

หากปล่อยให้กลุ่มบุคคลโจมตีให้ร้ายต่อคณะสงฆ์อย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานภาครัฐบางส่วนทำเสมือนสนับสนุน จะทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น จนอาจอยู่เหนือการควบคุมในระยะเวลาอันใกล้

ข้อเสนอ

1.ระยะสั้น

1.1 หาทางระงับการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่โจมตีคณะสงฆ์ และให้หน่วยงานของรัฐไม่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวนั้น

1.2 เร่งรัดให้คดีเรื่องรถโบราณเกิดความกระจ่างว่าใครกระทำผิด และดำเนินการตามกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามขั้นตอน แก้ปัญหาอึมครึมระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐบาล

1.3 มอบนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐระมัดระวังในการปฏิบัติกับพระสงฆ์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะระยะเวลาอันสั้นนี้ อย่าให้เกิดภาพทหาร ตำรวจ รังแก ข่มขู่พระ ด้วยการใช้กฎหมายทางโลก และมุ่งดำเนินคดีสถานเดียว

1.4 ให้เกียรติพระสงฆ์ โดยธรรมชาติคณะสงฆ์ไม่ชอบความรุนแรง ชอบการแก้ปัญหาด้วยความสงบ พูดคุย และมีแนวโน้มให้ความร่วมมือภาครัฐสูง

1.5 ควรประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

2.ระยะกลาง

2.1 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และ มส.กับองค์กรสงฆ์ที่มีกำลังมาก เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง และวัดพระธรรมกาย

2.2 สนับสนุนให้คณะสงฆ์มีเอกภาพ และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม ประเทศ และประชาคมโลก

2.3 สนับสนุนให้คนไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

3.ระยะยาว

3.1 จัดทำแผนพัฒนาพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพ โดยขอคำปรึกษาจาก มส.

3.2 จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพประชาชนร่วมกับ มส.ในการอบรมสั่งสอนฟื้นฟูศีลธรรมแก่ประชาชนให้มีหลักธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจ และอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองตามนโยบายรัฐบาล

3.3 จัดทำ Temple Mapping เพื่อสร้างกลไกในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือวัดโดยภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสนับสนุนให้วัดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนในท้องถิ่น ในลักษณะบ้าน วัด โรงเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image