วงวิชาการคึกคัก! อาจารย์ มช.วิเคราะห์ “พระศรีสรรเพชญ์”พระพักตร์ไม่เหมือนเศียรใหญ่ในพช.พระนคร เตรียมเผยแพร่บทความเร็วๆนี้

สืบเนื่องกรณีผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง นำเสนอแนวคิดซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญพระพุทธรูปสำคัญยุคกรุงศรีอยุธยา เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์โดยเชื่อกันสืบมาว่าถูกอังวะเผาลอกทองไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ผศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนมองว่าทุกข้อเสนอทางวิชาการมีความเป็นไปได้ น้ำหนักของหลักฐานและเหตุผลที่ใช้ประกอบ ในที่นี้จึงเห็นว่าข้อเสนอของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์มีความเป็นไปได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนขอเสนอความเป็นไปได้ในอีกแบบหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ว่าพระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญควรมีลักษณะอย่างไรกันแน่ โดยได้ผลแตกต่างไปจากพระพักตร์ของพระเศียรในพช.พระนคร กล่าวคือ จากการเปรียบเทียบพัฒนาการด้านรูปแบบศิลปะ ตนเชื่อว่าพระศรีสรรเพชญ์ น่าจะมีพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยพระหัตถ์ขวาที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดเบญจมบพิตรฯซึ่งไม่เหมือนกับเศียรใหญ่ที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์นำเสนอ

“ผมลองวิเคราะห์ทางอ้อมจากการเปรียบเทียบรูปแบบพระพุทธรูปที่มีจารึกหรือองค์ที่สามารถกำหนดอายุจากเอกสารที่น่าเชื่อถือตามกระบวนการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเช่นองค์ที่ระเบียงคดของวัดพระเชตุพนฯ และวัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งองค์หลังนี้เชิญมาจากวัดบางอ้อยช้าง จ.นนทบุรี คาดว่าน่าจะนำมาจากพิษณุโลก ทั้งสององค์เป็นพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ทรงครองจีวรห่มคลุมอยู่ในท่าประทานอภัยพระหัตถ์ขวาเช่นเดียวกับที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นปางของพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปทั้งสององค์มีพระพักตร์ใกล้เคียง กับพระพุทธรูปนายจอมเภรี จ.สุโขทัย พ.ศ. 2052 พระมงคลบพิตร พ.ศ. 2081 และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย พ.ศ. 2084 ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ. 2043 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง 9 – 41 ปี แต่ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกันมากนัก ในลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีพระพักตร์เป็นแบบที่เรียกว่า หน้าหุ่น คล้ายคลึงกันจนตลอดทั้ง 3 รัชกาล จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่พระศรีสรรเพชญ์น่าจะมีพระพักตร์ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ดังกล่าว ดังนั้น ถ้าพระศรีสรรเพชญ์ยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อาจมีพระพักตร์และพุทธลักษณะ
ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปยืนทั้งสององค์ที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดเบญจมบพิตรฯ ข้างต้น หรือไม่พระพุทธรูปยืนทั้งสององค์นั่นแหละอาจเป็นรูปจำลองของพระศรีสรรเพชญ์”

ผศ. พิชญา กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในแถบภาคกลางและภาคกลางตอนบน (เมืองเหนือ) ของประเทศไทยช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ที่กล่าวถึงข้างต้น มีความคล้ายคลึงกันแต่กลับแตกต่างจากพระพักตร์ของเศียรพระพุทธรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นพระศรีสรรเพชญ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้งในแง่ของพระพักตร์เป็นทรงผลมะตูม ความคมชัดและชัดลึก ของส่วนประกอบพระพักตร์ของเศียรใหญ่ที่มีมากกว่า ไปจนกระทั่งการแย้มพระสรวลจนพระพักตร์ทำให้โดยรวม ดูมีพระอารมณ์แจ่มใสมากกว่านิ่งเฉย ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามการอนุมานจากหลักฐานทางด้านศิลปะและลายลักษณ์อักษรเท่าที่มีอยู่และสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ในขณะนี้ โดยตนได้เขียนบทความเตรียมเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเร็วๆ นี้

(อ่านเพิ่มเติม ที่เพจ ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิป์ คลิกที่นี่)

Advertisement

ทั้งนี้ ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ เคยนำเสนอแนวคิดดังกล่าวที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พช.พระนคร เมื่อปี 2559 ต่อมา ได้ตีพิมพ์บทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จากนั้นมีการเรียบเรียงเป็นหนังสือ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก” โดยได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงวิชาการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image