บทนำมติชน : ตีโจทย์ให้แตก

คณะรัฐมนตรีเสนอความเห็น 16 ข้อที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอันมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งประธาน เพื่อให้นำไปประกอบการพิจารณาปรับแก้เนื้อหาร่างแรก ในจำนวนข้อเสนอทั้งหมดนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกับข้อ 16 มากที่สุด นักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ตั้งคำถามการเสนอบัญญัติเนื้อหา แบ่งช่วงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจ เฉพาะกาล จัดให้มีการเลือกตั้งระดับหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และช่วงใช้รัฐธรรมนูญปกติในรูปแบบประชาธิปไตยสากล มีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด การแบ่งเป็น 2 ขยักเช่นนี้เป็นความพยายามสืบทอดอำนาจหรือไม่ ประการสำคัญ รูปแบบตามข้อเสนอคณะรัฐมนตรีขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในเมื่อจะคืนอำนาจประชาชน ต้องคืนทั้งหมด มิใช่แค่ครึ่งเดียว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดการหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจระหว่าง 2 ฝ่ายในเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า คณะรัฐมนตรีเสนอบัญญัติเนื้อหาข้อ 16 มีจุดประสงค์ที่ต้องการวางกลไกแก้ไขปัญหาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากห่วงว่า สถานการณ์บ้านเมืองจะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากเกิดเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขึ้นมาอีก หากไม่เขียนบัญญัติไว้ทุกอย่างอาจสะดุดหมด ไม่มีเครื่องมือแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอีก ข้อ 16 เป็นคำแนะนำที่ห่วงว่าจะมีความขัดแย้งอยู่ และรัฐบาลขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาสภาพปัญหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างฯนั้น ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่

รัฐบาล คสช.กล่าวถึงปัญหาก่อนการยึดอำนาจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บ่อยครั้ง และนำมาเป็นโจทย์เขียนกติกาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ข้อเสนอบัญญัติบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังตีโจทย์ไม่แตก เหตุการณ์ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ใช่วิกฤตที่เกิดขึ้นเอง แต่เป็นการจัดตั้ง โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีการกดดันเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่มิให้ปฏิบัติหน้าที่ ช่องทางการใช้ประชาธิปไตยสากลคือการเลือกตั้ง เป็นทางออกแก้ไขปัญหาก็ถูกปิด ไม่ใช่ปิดตัวเอง ปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดจากการจัดตั้ง การละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจ และถูกกดดัน รวมถึงไม่ยอมรับกระบวนการใช้ระบบเสียงข้างมากตัดสินปัญหาตามกติกา ดังนั้นรัฐบาลและคณะกรรมการร่างฯต้องตีโจทย์ให้แตก และออกแบบกติกาแก้ปัญหาตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image