พบบันทึกลับยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เผยข้อมูลใหม่ อังกฤษเปรียบไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก”

เมื่อวันที่ 6 เมษายน “มติชนออนไลน์” ได้รับแจ้งถึงการพบข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมุมมองของอังกฤษที่มีต่อไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากสมุดจดบันทึกประชุมลับของรัฐบาลอังกฤษที่ถูกปกปิดมานานกว่า 60 ปี โดยมีข้อความที่รัฐมนตรีว่าการสงครามทางเศรษฐกิจ (Minister of Economic Warfare) กล่าวเปรียบเทียบไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” เนื่องจากมีกลยุทธ์การพลิกสถานการณ์ที่ทำให้สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ในช่วงท้ายสงคราม

นายมานากรณ์ เมฆประยูรทอง เปิดเผยว่าได้พบข้อความดังกล่าวอยู่ในหน้าที่ 86 จากกว่า 300 หน้าในสมุดจดของเซอร์บรู๊ค ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชาวอังกฤษ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทที่ London School of Economics and Political Science ด้าน History of International Relations ในช่วงปี 2559 โดยเอกสารนี้ถูกปกปิดมานานกว่า 60 ปี ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ก่อนถูกย้ายมาเก็บที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ (The National Archives) เมื่อปี 2549

“เอกสารนี้มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับแนวคิดของอังกฤษต่อไทยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในภาวะสงคราม ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1945 ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในรายงานสรุปทางการ ข้อความที่เปรียบเทียบไทยเป็น Finland of the East หรือ ฟินแลนด์แห่งตะวันออก เป็นคำพูดของลอร์ดเซลบอร์น รัฐมนตรีว่าการสงครามทางเศรษฐกิจ  ที่กล่าวกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษวินสตัน เชอร์ชิล ระหว่างการวิจารณ์บทบาทของสหรัฐฯ ในการ ‘รีบแย่งชิงท่าทีนำ’ ของอังกฤษ ท่ามกลางปัญหาทางอุดมการณ์ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ในฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางระเบียบโลกภายหลังสงคราม โดยมีไทยเป็นหนึ่งในประเด็นขัดแย้งสำคัญ อังกฤษยังคงท่าทีต้องการยึดระบบจักรวรรดินิยมและรื้อฟื้นอาณานิคม โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเสื่อมต่ออิทธิพลของตนหลังโดนญี่ปุ่นไล่ออกจากภูมิภาค 

ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งไม่อยากถูกมองว่าได้เข้าร่วมสงครามเพื่อรักษาระบบอาณานิคมของชาติอื่น มีท่าทีต้องการจัดระเบียบโลกใหม่ตามกฎบัตรแอตแลนติก ที่ร่วมลงนามกับอังกฤษ โดยเฉพาะด้วยการช่วยคงเอกราชของไทยไว้ เพื่อเป็นตัวอย่างนโยบายของตัวเองต่อภูมิภาค ความขัดแย้งทางมุมมองของทั้ง 2 ประเทศ บานปลายเป็นปัญหานโยบายที่ส่งผลให้ไม่สามารถมีท่าทีร่วมกันต่อไทยในช่วงต้นปีสิ้นสุดสงคราม อังกฤษถือว่า การที่ไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และได้เริ่มประกาศสงครามต่อกัน ทำให้อังกฤษถูกขับไล่ออกจากภูมิภาค จึงมีสิทธิเรียกร้องความเสียหาย ในขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันนโยบายปกป้องไทยซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยถือว่าไทยในขณะนั้นเป็นดินแดนที่ถูกข้าศึกครอบครอง และไม่ยอมรับว่าไทยประกาศสงครามต่อตัวเองตามแนวคิดของขบวนการเสรีไทย” นายมานากรณ์กล่าว

Advertisement
ข้อความในไฺฮไลต์สีเหลือง ระบุว่า “Finland of the East” หรือ ฟินแลนด์แห่งตะวันออก

นายมานากรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การกล่าวเปรียบเทียบไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” จากฝ่ายอังกฤษเกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนหลังจากฟินแลนด์ประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะนาซีเยอรมนีหลังจากเคยร่วมรบเคียงข้างกันในช่วงสงคราม ฟินแลนด์ได้สมคบกับนาซีเยอรมันสู้รบกับสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. 1941-1944 หลังจากโซเวียตบุกยึดพื้นที่บางส่วนของฟินแลนด์ได้เมื่อ ค.ศ. 1940 แต่เมื่อโซเวียตมีท่าทีจะชนะอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944 ประธานาธิบดีฟินแลนด์ได้ประกาศลาออก ให้คนใหม่ขึ้นแทนเพื่อเซ็นสัญญาสงบศึกกับโซเวียต และหันไปต่อต้านนาซีเยอรมัน อันเป็นการกระทำที่ช่วยให้ฟินแลนด์รักษาเอกราชไว้ได้

“สำหรับไทย ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนั้น ได้รับฟังรายงานแผนลับของไทยที่แจ้งต่ออังกฤษในการจะให้นายกรัฐมนตรีไทยประกาศลาออก เพื่อที่รัฐบาลจากฝ่ายต่อต้านสามารถขึ้นมาแทน และสานความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไป” นายมานากรณ์กล่าว

ทั้งนี้ การกล่าวเปรียบเทียบดังกล่าว ชี้ถึงความคล้ายคลึงของฟินแลนด์กับไทยในกลยุทธ์การพลิกสถานการณ์เข้าร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที 2 ส่งผลให้ทั้งไทยและฟินแลนด์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังรักษาเอกราชไว้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการพบข้อความเปรียบเทียบในลักษณะดังกล่าว นายมานากรณ์ได้ติดต่อสอบถามทางอีเมลไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในประเด็นดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์ริชาร์ด อัลดริช จาก University of Warwick ผู้เขียน The Key to the South: Britain, the United States, and Thailand during the Approach of the Pacific War, ศาสตราจารย์บรูซ เรย์โนลด์ จาก San Jose State University ผู้เขียน Thailand’s Secret War: OSS, SOE and the Free Thai Underground during World War II รวมถึงศาสตราจารย์นิโคลัส ทาร์ลิ่ง จาก University of Auckland ผู้เขียน The Cambridge History of Southeast Asia ซึ่งต่างตอบกลับว่าเป็นข้อมูลที่ ‘ยังไม่เคยพบมาก่อน’ จึงนับเป็นการค้นพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

มานากรณ์ เมฆประยูรทอง ผู้ค้นพบข้อความในบันทึกลับ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image