อ.โบราณคดีร้อนใจปมรื้อ “สถานีรถไฟเก่า” เผยกฎหมายไทยไม่ให้ “ความทรงจำ” เป็นเกณฑ์ประเมินค่า

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยถึงประเด็นการเตรียมรื้อถอนสถานีรถไฟเก่า ซึ่งนักวิชาการกลุ่มหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวเพื่อขอให้มีการพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า (อ่านข่าว อ.สถาปัตย์ลาดกระบังส่งจม. “วิงวอน” บิ๊กตู่ เบรกรื้ออาคารสถานีรถไฟเก่า ชี้เป็นโบราณสถานของชาติ)

ผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่า สถานีรถไฟเก่าไม่มีองค์ประกอบตามเกณฑ์ที่เป็นโบราณสถานนั้น ตนมองว่า การอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรม ไม่น่าจะต้องถึงขนาดรอให้มันเก่าจนเข้าเกณฑ์ของกฏหมายก็ได้ เพราะหลักฐานของอดีตย่อมสำคัญเสมอเมื่อผ่านระยะร่วมสมัยของหลักฐานนั้นมาแล้ว เหมือนประโยคที่ว่า ‘เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า’ เพราะคุณค่าของมรดกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาเพียงชั่วพริบตา เช่น กรณีของวันที่ระเบิดปรมาณูลงที่เมืองฮิโรชิมะของญี่ปุ่น ของที่ถูกสร้างในวันนั้นกลายได้เป็นวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ทันทีโดยไม่ต้องรอกระบวนการทางเวลา

“การปฏิเสธรูปแบบ ‘โหลๆ’ ของอาคารสถานีรถไฟ โดยว่าไม่มีองค์ประกอบตามเกณฑ์ที่เป็นโบราณสถานนั้น จริงๆแล้ว กฏหมายที่สร้างกรอบขึ้นมากว้างๆโดยวิธีอนุโลมย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ถือกฏหมายสามารถพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกรณีด้วย ผมเชื่อว่ายังมีความลักลั่นในการประเมินคุณค่ามรดกทางประวัติศาสตร์ในแวดวงวิชาการแบบไทยๆ เนื่องจากการมองของผู้เห็นคุณค่าสองแบบ หนึ่ง มองแบบอิงกับหลักเกณฑ์ที่ถูกตราขึ้นอย่างเคร่งครัดซึ่งรวมถึงการมองอายุสมัยและองค์ประกอบที่จะรวมขึ้นเป็น ‘โบราณสถาน’ อันมีผลตามตัวบทกฏหมาย

สอง มองในแง่ความสำคัญด้านศิลปกรรมและหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ หรือหมายความรวมๆถึงสุนทรียะที่ควบคู่กับความเก่าแก่ ซึ่งอย่างนี้ กฏหมายอาจคุ้มครองหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ถือกฏหมาย เนื่องจากตัวบทได้เปิดช่องว่า อาจเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญทางศิลปกรรมหรือประวัติศาสตร์ น่าเสียดายที่กฏหมายของไทยส่วนนี้ไม่เคยระบุให้ ‘ความทรงจำ’เป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินคุณค่าทางนิตินัยได้”ผศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image