สรงน้ำ ‘9เทพนพเคราะห์’ เสริมมงคลสงกรานต์

เทพนพเคราะห์

ปีใหม่ไทย กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันมหาสงกรานต์ ถัดมาเป็นวันเนา และวันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน เป็นเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ มีตั้งแต่การรดน้ำ การรดน้ำอัฐิเพื่อแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ การสรงน้ำพระพุทธรูป เจติยสถาน พระสงฆ์ และรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่

สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบต่อองค์ความรู้อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีบทบาทในการเลือกสรรสืบทอดประเพณีที่เหมาะสม และเพื่อผดุงความรู้มรดกทางวัฒนธรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ จึงได้จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม โดยอัญเชิญพระธาตุประดิษฐานในพระกรัณฑ์ (พบในพระกรัณฑ์ก้านพระรัศมีพระพุทธสิหิงค์) และเทวดานพเคราะห์ 9 องค์ มาให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชาขอพร ที่ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน เวลา 09.00-16.00 น.

ทั้งนี้แต่ละคนเมื่อเกิดมาจะมีเทวดานพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทวดานพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทวดาแต่ละองค์ ซึ่งจะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทวดานพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์ หรือความเข้ากันได้หรือไม่กับเทวดาประจำวันเกิด

หากต้องการทราบว่าเทพนพเคราะห์องค์ใดเสวยอายุให้นับอายุเต็ม โดยเริ่มต้นนับกำลังของเทพนพเคราะห์ประจำวันเกิดเวียนขวาไปตามผังทักษา แต่ละองค์จะเสวยอายุเป็นจำนวนปีตามกำลังแห่งตนยกเว้นพระเกตุจะไม่เข้าเสวยอายุ แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเคราะห์กรรมหรือเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองตามความเชื่อฝ่ายไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู

Advertisement

คนไทยโบราณได้ผนวกความเชื่อจากศาสนาฮินดูเข้ากับความนับถือศาสนาพุทธ โดยให้จัดเครื่องบูชาถวาย ดังนี้ ข้าวปั้นจำนวนเท่ากำลังพระเคราะห์ใส่กระทง พร้อมข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู แล้วเขียนเลขประจำตัวพระเคราะห์(บัตร) ใส่กระทงนั้นไปบูชาพระพุทธรูป จากนั้นจุดธูปตามจำนวนกำลังพระเคราะห์หรือหล่อพระพุทธรูปประจำเทพนพเคราะห์ถวายวัด

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร
กล่าวว่า เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ทรงราชสีห์ พระจันทร์ทรงอาชา พระอังคารทรงกระบือ พระพุธทรงช้าง พระพฤหัสบดีทรงกวาง พระศุกร์ทรงโค พระเสาร์ทรงเสือ พระราหูทรงครุฑ และพระเกตุทรงนาค

สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ชุดนี้ หล่อขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านใน ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดานพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทวดานพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทวดาแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับพระธาติและเทวดานพเคราะห์ ทั้ง 9 องค์ มีรายละเอียด ดังนี้

Advertisement

1.พระอาทิตย์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต เกิดเป็นพระอาทิตย์ ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกายสีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคารสัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6

พระอาทิตย์

2.พระจันทร์ พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15

พระจันทร์

3.พระอังคาร พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8

พระอังคาร

4.พระพุธ พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหูสัญลักษณ์เลข 4 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 17

พระพุธ

5.พระพฤหัสบดี พระอิศวรสร้างจากฤาษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดงพรมน้ำอมฤตได้เป็นพระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 19 เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี

พระพฤหัสบดี

6.พระศุกร์ พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤต ได้เป็นพระศุกร์ มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคาร แต่เป็นศัตรูกับพระเสาร์สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21 พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์

พระศุกร์

7.พระเสาร์  พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤตได้เป็นพระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10

พระเสาร์

8.พระราหู พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหู มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับพระพุธสัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12

พระราหู

9.พระเกตุ พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลางบ้างว่า พระเกตุเกิดจากหางของพระราหู ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักรตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็นพระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี สัญลักษณ์คือเลข 9 และมีกำลังพระเคราะห์เป็น 9

พระเกตุ
กรัณฑ์บรรจุพระธาตุ

สรงน้ำและกราบไหว้บูชาขอพร พระธาตุและเทวดานพเคราะห์ 9 องค์ เพื่อความสิริมงคลของชีวิต ได้ที่ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน เวลา 09.00-16.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image