สาระมาเต็ม! นักปวศ.ขุดจารึก-เอกสารโบราณไขปริศนา “สงกรานต์” มาจากไหน ?

ธิดาท้าวกบิลพรหม แห่เศียรท้าวกบิลพรหม จิตรกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย

สงกรานต์หมายถึงอะไร

คำว่า “สงกรานต์” เป็นศัพท์ในภาษาสันสกฤต มาจาก กฺรม ธาตุ + สํ อุปสรรค หมายความว่า การก้าวพ้นจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง หรือ การโคจรข้ามของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง (M.M. Williams 1970 : 1127 ; V. S. Apte 1995 : 947.) ดังนั้นถ้ายึดถือตามความนี้ในหนึ่งปีจะมีสงกรานต์ทั้งหมดทั้งหมด 12 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตามในพจนานุกรมทั้งฉบับ 2 ดังกล่าวไม่ได้ให้นิยามศัพทของคำว่า “สงกรานต์” ว่าหมายถึงวันปีใหม่แต่ประการใด

แนวคิดคำว่า “สงกรานต์” หมายถึง การที่พระอาทิตย์ก้าวข้ามจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีนั้น มีปรากฏร่องรอยในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร ดังตัวอย่างจารึกวัดสระกำแพงใหญ่ (ศ.ก.1 , K.374) จังหวัดศรีสะเกษ ระบุปีมหาศักราช964 (พ.ศ. 1585) รัชกาลพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 ปรากฏข้อความว่า

“964 ศก วฺยรเกต ไจตฺร วิศุวสํกฺรานฺต นุ วฺระกํมฺรเตงอ ศิวทาส คุณโทษ”

Advertisement

แปลว่า มหาศักราช 964 ขึ้น 2 ค่ำ เดือนเจตรมาส (เดือน5) วิศุวสงกรานต์ ด้วยพระกมรเตงอัญศิวทาสคุณโทษ

คำว่า “วิศุวสงกรานต์” หมายถึง วันที่พระอาทิตย์ตรงศีรษะมากที่สุด เป็นช่วงที่กลางวันกลางคืนเท่ากัน (กรมศิลปากร 2529 ก : 173. ; G. Coedès 1954 : 251 – 252.)
อีกทั้งในจารึกปราสาทพิมาย 2 (นม.29 , K.953) จังหวัดนครราชสีมา ระบุปีมหาศักราช 968 (พ.ศ.1568) รัชกาลพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 ปรากฏข้อความว่า

“จำนามปฺรติทิน ปรฺวฺวทิวสน….(สงฺ)กรานต”

Advertisement

แปลว่า ประจำทุกวันในวันปรรวทิวัสและวันสงกรานต์

คำว่า “วันปรรวทิวัส” หมายถึง วันที่พระจันทร์โคจรจากนักษัตรหนึ่งไปสู่อีกนักษัตร ดังนั้นคำว่า “สงกรานต์” ในที่นี้ก็ควรหมายถึง วันที่พระอาทิตย์โคจรก้าวข้ามไปสู่อีกราศีหนึ่ง

(กรมศิลปากร 2529 ก : 173. ; G. Coedès 1964 : 125.)

นอกจากนี้ยังพบในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์ ใจความว่า

“วันพฤหัส แรม 3 ค่ำ เดือน 2 เสด็จพยุหบาตราจากปาโมกโดยทางชลมารค แลฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ วันนั้นเป็นวันอุ่น แลเป็นสงกรานต์ พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง” (กรมศิลปากร 2549 : 69.)

จากในตอนต้นของของพระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้กล่าวว่าเขียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังนั้นจึงพอที่เชื่อได้ว่า ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนหน้าราชวงศ์บ้านพลูหลวงยังคงรับทราบถึงความหมายของคำว่า “สงกรานต์” คือ การก้าวข้ามราศี

ปัญหาต่อมาว่าคำว่า “สงกรานต์” ได้ถูกจำกัดให้มีความหมายเพียงแค่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด หากแต่หลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จำกัดความว่าพระอาทิตย์ข้ามจากราศีมีนมาสู่เมษ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. คำแปลคัมภีร์จันทสุริยคติทีปนีต้นสมัยรัชกาลที่ 1 มีการกล่าวการโคจรข้ามราศีของพระอาทิตย์ หากแต่ในคำแปลคัมภีร์นั้นไม่มีคำว่า “สงกรานต์” แต่ประการใด

2. ในศัพทานุกรม “คำฤษฎี” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ (2553 : 8.) ซึ่งเข้าใจว่ารวบรวมในช่วง พ.ศ. 2375 – 2400 ได้ให้ความหมายของคำนี้ว่า “สงกรานต์ ว่า ย่างคือพระอาทิตย์ ขึ้นสู่เมศราษี”

3. ในอักขราภิธานศรับท์ ของ ปรัดเล (2514 : 712.) ก็ได้ให้คำจำกัดความว่า “สงกรานต์, คือกาลเมื่อถึงเดือนห้า, แลพวกโหรทำเลขคูณหารรู้เวลาอาทิตย์ย้ายราศรี, คือ ยกจากราศีมิญไปสู่ราศรีเมศปีละหนนั้น

แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่า เมื่อมีการเอ่ยถึงคำว่า “สงกรานต์” ในบางครั้งจะเอ่ยว่า “ตรุษสงกรานต์” คำว่า “ตรุษ” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ตฺรุฏ” แปลว่า ตัด (M.M. Williams 1970 : 462 ; V. S. Apte 1995 : 486.) ผู้เขียนเข้าใจว่า การที่เรียกสงกรานต์ว่าตรุษสงกรานต์ คือร่องรอยความหมายที่ว่า การก้าวข้ามราศี แต่การเรียกตรุษสงกรานต์เพราะต้องการเน้นว่าเป็นการข้ามจากราศีมีนมาเป็นราศีเมษ ซึ่งคือการเปลี่ยนศักราช

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image