“ศรีศักร” ลั่นกลางเสวนา ยัน “ทางเลียบเจ้าพระยา” ทำชุมชนหายแน่ ถาม กรุงเทพจะเหลืออะไร ?

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 เมษายน ที่มติชนอคาเดมี นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจัดศิลปวัฒนธรรมเสวนา เรื่อง “ศรีอโยธยา:อดีตราชธานีสยามประเทศ” โดยศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดี ผู้เขียนหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ดำเนินรายการ

ศ.พิเศษศรีศักร กล่าวว่า นครปฐมอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกับอยุธยาและกรุงเทพ บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มีลำน้ำมากมาย เวลาสร้างบ้านแปงเมืองจะมีการขุดคลองขวางเพื่อเชื่อมการคมนาคม หลายเมืองเกิดขึ้นตามลำน้ำธรรมชาติและขุดคลองขวาง กรุงเทพ-ธนบุรีก็เกิดจากการขุดคลองขวาง ลำน้ำมาถึงคลองบางกอกน้อยวกไปออกคลองบางหลวง เกิดเป็นเกาะสร้างเมืองสองฝั่ง อยุธยาก็เช่นกัน เมื่อผมขยายการศึกษาไปถึงลุ่มน้ำลพบุรี ป่าสัก แม่น้ำน้อย พบว่าอยุธยาเกิดจากลุ่มน้ำป่าสัก โดยมีแต่ละลุ่มน้ำขยายออกมาหลายแพรกเป็นเส้นทางคมนาคม แพรกที่สำคัญจะมีชุมชนตั้งอยู่และมีการขุดคลองขวาง เมืองอยุธยาหันไปทางตะวันออก ไปทางลุ่มน้ำป่าสัก คือลำน้ำหันตรา ที่ไหลออกตรงวัดพนัญเชิง จุดน้ำมีการขุดลำน้ำขวาง เกิดชุมชน

“ความเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในเชิงพื้นที่ ผมคิดว่าเริ่มตั้งแต่อยุธยา ตรงป้อมเพชร เป็นจุดที่เรือต่างประเทศไปถึง เป็นเมืองท่าใหญ่ โดยมีท่าที่สำคัญอยู่ที่วัดพนัญเชิง ลุ่มน้ำป่าสักมีอีกแพรกไหลผ่านสระบุรีถึงต.ท่าเรือหักลงใต้จุดนั้นจะคดเคี้ยวจนถึงนครหลวง จุดนั้นก็เกิดคลองขุดเชื่อมกับลำน้ำลพบุรี จะเห็นได้ว่าถิ่นฐานอโยธยาตั้งอยู่ทางตะวันออก ส่วนทางตะวันตกจะเป็นลุ่มน้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อย อยุธยาขยายถิ่นฐานไปตามทุ่ง แต่ละทุ่งจะมีเจดีย์ประจำ โดยเจดีย์ภูเขาทองเป็นจุดเริ่มต้นอยุธยาตอนกลาง”

ศ.พิเศษศรีศักรกล่าวอีกว่า ลักษณะการตั้งเมืองของไทยจะมีคูน้ำ กักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง ด้านหนึ่งของเมืองจะเป็นลำน้ำธรรมชาติและส่วนใหญ่วัดสำคัญจะตั้งอยู่นอกเมือง เช่นวัดพนัญเชิงที่อยู่นอกเมืองอโยธยา

Advertisement

ส่วนกรณีการจัดการเมืองในแนวคิดประชารัฐนั้น ศ.พิเศษศรีศักร กล่าวว่า ตนเห็นว่าการพัฒนาควรเริ่มจากข้างใน เน้นชุมชน รัฐบาลพัฒนารัฐจากข้างบนในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแล้วก็จะมีอุตสาหกรรมเข้ามา ชาวบ้านที่อยู่ข้างล่างก็โดนขยี้ โดนรังแก การพัฒนาต้องเริ่มหนุนให้ชาวบ้านรู้จักพื้นที่ตัวเอง

“ส่วนเรื่องการสร้างทางเลียบริมฝั่งเจ้าพระยานั้น ให้ไปอ่านนิราศสุนทรภู่ที่พูดถึงภูเขาทอง จะเห็นสองฝั่งแม่น้ำ การทำทางเลียบแม่น้ำจะทำให้หายไปหมดเลย แล้วกรุงเทพจะเหลืออะไร หลังอยุธยาเกิดชุมชนขึ้นสองริมฝั่งเจ้าพระยามากมาย มีการขุดคลองขวาง ลำคลองคือทางกระจายคน จุดที่มีลำคลองมากก็จะมีชุมชนกระจุก แต่เดี๋ยวน้ำทำประตูกั้นน้ำอย่างปทุมธานีก็พัง น้ำท่วม

“การพัฒนาอยุธยาสิ่งที่จะช่วยได้คือการทำพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การแสดงโบราณวัตถุ แต่แสดงบ้านเมือง เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง วัตถุจะเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เข้ามาช่วยประกอบ เมืองนครปฐมก็น่าเสียดาย รอบพระปฐมเจดีย์น่าจะทำพิพิธภัณฑ์เมือง แต่เอาพื้นที่ไปทำเชิงพาณิชย์หมด เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์เมืองแล้วจะช่วยในการพัฒนา” ศ.พิเศษศรีศักรกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีผู้สนใจร่วมงานเสวนาจำนวนมากโดยได้เลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆที่นำมาจำหน่ายในงาน อีกทั้งยังมีตลาดอคาเดมี จำหน่ายอาหารของใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image