อู่ทองเป็นเมืองใหญ่ 2,000 ปีมาแล้ว เก่าแก่ที่สุดในภาคกลาง ไม่เคยเป็นอาณานิคมอินเดีย

พบหลักฐานธรณีวิทยา ระบุ อู่ทองเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยในภาคกลางเติบโตขึ้นเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ก่อนยุคทวารวดี ก่อนรับอารยธรรมพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย หักล้างแนวคิดของนักปราชญ์ฝรั่งเศสยุคอาณานิคมที่ว่าอุษาคเนย์ต้องเป็นอาณานิคมอินเดียถึงจะเจริญก้าวหน้า

หลังติดต่อค้าขายกับอินเดีย-ลังกา แล้วรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ต้องเผชิญปัญหาการคมนาคมทางน้ำตื้นเขินซ้ำซาก เพราะตะกอนที่พัดมาจากทิวเขาทางตะวันตก ตั้งแต่ราว พ.ศ.1000 ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลง ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองอู่ทองจึงค่อยๆ เสื่อมถอยลงเมื่อหลัง พ.ศ.1600 โดยไม่มีเหตุจากความแห้งแล้งและโรคระบาดตามที่ประวัติศาสตร์ไทยบอกไว้
ทั้งนี้ เป็นข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวกับกำเนิดและการร่วงโรยเสื่อมถอยของเมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาแห่งสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี

“เมืองอู่ทองเป็นบ้านเมืองใหญ่โตเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว โดยตั้งอยู่บนดินที่เกิดจากทางน้ำ จากนั้นจะมีตะกอนจากทิวเขา และตะกอนจากทางน้ำไหลแทรกสลับหลายช่วงเวลา ไปถมทับเมืองอู่ทอง ประชาชนเริ่มโยกย้าย ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว ทำให้เมืองต้องเสื่อมถอยลงไป” นายคเชนทร์ เหนี่ยวสุภาพ นักธรณีวิทยาผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้บอกมติชน
หลักฐานทางธรณีวิทยาดังกล่าวสนับสนุนสอดคล้องกับการค้นคว้าสืบเนื่องนานแล้วจนทุกวันนี้ของนักวิชาการไทยและตะวันตกยุคปัจจุบัน ที่พบว่าคนในอุษาคเนย์มีเทคโนโลยีถลุงโลหะสำริดก้าวหน้ามีบ้านเมืองขนาดใหญ่โตแล้วก่อนรับอารยธรรมอินเดีย นอกจากนั้นยังเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทเสมอผู้ชาย หรือบางอย่างผู้หญิงนำผู้ชาย ซึ่งต่างจากสังคมอินเดียอย่างชัดเจน และเท่ากับหักล้างคนละขั้วกับแนวคิดของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝรั่งเศส ที่บอกไว้นานแล้วจนเป็นที่เชื่อถือกันทั่วโลกว่าอุษาคเนย์เป็นอาณานิคมของอินเดีย เพราะต้องรับอารยธรรมอินเดียถึงจะพ้นจากความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน

นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เคยสำรวจแหล่งโบราณคดีเมืองอู่ทอง เห็นสอดคล้องกันในหลักฐานธรณีวิทยาและโบราณคดีที่ค้นพบความพยายามในการจัดการน้ำของคนโบราณที่เมืองอู่ทอง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการขุดคลองลัดขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากจะใช้ย่นระยะทางสำหรับการคมนาคมแล้ว ยังอาจจะสัมพันธ์กับระบบการชลประทาน หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำที่เกิดจากตะกอนจากภูเขาพัดพาจนทางน้ำตื้นเขินลงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะทำเพื่อประโยชน์ทุกประการทั้งหมดนี้
“แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งก็คงจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองอู่ทองเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย จนลดบทบาทความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เป็นชุมชนขนาดเล็กเมื่อหลัง พ.ศ.1600 หลังชุมชนที่เมืองสุพรรณบุรีเติบโตขึ้นมาแทนที่” นายศิริพจน์สรุป

Advertisement

ข้อมูลใหม่เหล่านี้มีอยู่ใน “รายงานการศึกษาดินตะกอนน้ำพารูปพัด (Alluvial fan) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” จัดทำโดย คเชนทร์ เหนี่ยวสุภาพ, วีรวัฒน์ ธิติสวรรค์ และวชิระ อังคจันทร์ แห่งสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 (ปทุมธานี) กรมทรัพยากรธรณี เมื่อ พ.ศ.2559
เอกสารกรมทรัพยากรธรณีระบุว่าเมืองอู่ทองสร้างอยู่บนชั้นตะกอนที่เกิดจากทางน้ำ (Fluvial deposit) อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว หมายความว่า อู่ทองเป็นบ้านเป็นเมืองมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.500 ส่วนก่อนหน้านั้นมีผู้คนอาศัยอยู่แล้ว แต่ยังไม่ขยายตัวเติบโตจนนับได้ว่าเป็นชุมชนเมือง

หลักฐานจากการศึกษาทางธรณีวิทยา พบว่าต่อมาตะกอนจากภูเขาพัดพาลงมาทับถมลงบนพื้นดินเมืองอู่ทองระหว่างที่เป็นบ้านเมืองแล้ว จนเกิดเป็นชั้นดินแบบตะกอนน้ำพารูปที่พัด (Alluvial fan) ประกอบกับมีตะกอนที่เกิดจากทางน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก (Floodplain deposit) ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางเดินเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว ตรงกับเมื่อราว พ.ศ.1000 เป็นเหตุแห่งการล่มสลายของเมืองอู่ทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image