เจอแล้ว! ‘ทับหลังเขาโล้น’ โผล่อเมริกา ภาพถ่าย 50 ปีมัดแน่น เคยอยู่บนแผ่นดินไทย จี้กรมศิลป์ทวงคืน

คืบหน้ากรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์อายุราว 1,300 ปี จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนักวิชาการได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของพระโพธิสัตว์ให้แก่กรมศิลปากร เพื่อผลักดันการทวงคืน ต่อมามีการพบทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์, ม้าหินทราย รวมถึงแผ่นหินทรายสลักรูปสตรีบนเสาประดับกรอบประตู คาดเป็น ”นางสีดา” จากรามายณะตอน นางสีดาในอโศกวนา จากปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลี (Chong-Moon Lee) เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยมีการเรียกร้องให้จัดไว้ในรายการติดต่อขอรับมอบคืนด้วยนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งเคลื่อนไหวในการทวงคืนมรดกวัฒนธรรมของไทยจากต่างชาติ เปิดเผยว่า พบโบราณวัตถุของไทยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลีเพิ่มเติมอีก 3 ชิ้น ได้แก่ 1.ทับหลัง ตอนกุมภกรรณสู่สนามรบ จากปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ 2. ทับหลังรูปบุคคลนั่งเหนือแนวหงส์จากปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา 3. ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ตนจึงขอเรียกร้องให้กรมศิลปากรเร่งดำเนินการเพื่อให้คืนกลับสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะทับหลังจากปราสาทขาโล้น เนื่องจากมีภาพถ่ายเมื่อ 50 ปีก่อน เป็นหลักฐานชัดเจน

“ตามที่ปรากฏในข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนว่าท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมต.ว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการติดตามโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครว่า เห็นชอบกับแนวทางการติดตามโบราณวัตถุ โดยจะมีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายนั้น  อยากขอเสนอรายการเพิ่มเติมอีก 3 ชิ้น คือ ทับหลังกุมภกรรณจากพนมรุ้ง ทับหลังปราสาทพิมาย ซึ่ง 2 ชิ้นนี้ไม่มีหลักฐานรูปถ่ายแต่สามราถยืนยันได้ด้วยรูปแบบศิลปะที่ไม่พบลวดลายเช่นนี้จากประเทศอื่นแม้แต่ในกัมพูชา

Advertisement

ส่วนอีกชิ้นหนึ่งคือ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐเหลือเพียงหลังเดียวบนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีภาพถ่ายชัดเจนในหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี ตีพิมพ์โดย ม.ศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2510 เมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายกับภาพทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ชอง มูน ลี จะพบว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นเดียวกัน แม้ว่ารูปหน้าบุคคลจะหายไปแต่ลวดลายทั้งหมดแสดงให้เห็นได้ชัดว่าคือทับหลังมาจากปราสาทเขาโล้นอย่างไม่ต้องสงสัย” นายทนงศักดิ์กล่าว

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

นายโชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ตนได้ทราบข้อมูลจาก ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ว่ากระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุประเภทเครื่องทอง จากอังกฤษ จนได้รับคืนเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 153 วัน สร้างความดีใจให้ชาวเขมรทั้งประเทศ โดยใช้หลักฐานคือหนังสือ Khmer Gold :Gifts for the Gods. ซึ่งเป็นการเขียนร่วมกันของ นางเอมม่า ซี บังเกอร์ และนายดักกลาส แลชฟอร์ด ซึ่งปัจจุบันมีสัญชาติไทย ในขณะที่อธิบดีกรมศิลปากรของประเทศไทย ยังคงเตรียมการประสาน เป็นเวลากว่า 400 วันแล้ว ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอธิบายถึงทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ไว้ในหนังสือศิลปลพบุรีความว่า

Advertisement

“ปราสาทเขาโล้นเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อด้วยอิฐ ทับหลังสลักเป็นรูปเกยีรติมุขอยู่ตรงกลาง มีริมฝีปากล่างและแลบลิ้นออกมาเป็นแผ่นสามเหลี่ยม มีเทวดาประทับนั่งชันเข่าอยู่ข้างบน อย่างไรก็ดี ท่อนพวงมาลัยนั้นมิได้ออกมาจากปาก แต่อยู่ใต้ลิ้น และท่อนปลายของพวงมาลัยก็ขมวดเป็นวงโค้งสลับกันเพียงข้างละ 2 วงเท่านั้น เหตุนั้นจึงอาจอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1700 – 1750 แทนที่จะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1600 – 1650 อย่างไรก็ดีเสาอิงกรอบประตูและกรอบประตูหินทรายก็ดูอาจจะเก่าแก่กว่าระยะนี้ อายุของปราสาทอิฐแห่งนี้ยังไม่สู้แน่นอนนัก มีจารึกสลักอยู่บนกรอบประตูด้านใต้และด้านเหนือบ่งถึง พ.ศ. 1559 แต่เสาอิงประตูและกรอบประตูหินทรายเหล่านี้อาจจะนำมาจากปราสาทหลังอื่นที่เก่าแก่กว่านี้ก็ได้”

ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว (ในอดีต ยังเป็น จังหวัดปราจีนบุรี) จากหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี โดย ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ม.ศิลปากร ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510 เป็นหลักฐานมัดแน่นว่าทับหลังที่พิพิธภัณฑ์ชอง มูน ลี เคยอยู่ในประเทศไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image