‘ธเนศ’ ชี้ ไทยชอบธรรมขอคืน ‘ทับหลังเขาโล้น’ จากสหรัฐ แนะดูแลในฐานะ’มรดกของมนุษยชาติ’

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

สืบเนื่องกรณีนักวิชาการพบโบราณวัตถุไทยในต่างแดนเพิ่มอีก 3 ชิ้น นอกเหนือจากประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ โดยหนึ่งในนั้นคือ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าเมื่อ พ.ศ.2510 อย่างชัดเจนว่าเคยอยู่ในไทย นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ และกลุ่มสำนึก 300 องค์จึงมีการเรียกร้องให้ทวงคืนกลับสู่ประเทศไทย (คลิกอ่านข่าวเจอแล้ว! ‘ทับหลังเขาโล้น’ โผล่อเมริกา ภาพถ่าย 50 ปีมัดแน่น เคยอยู่บนแผ่นดินไทย จี้กรมศิลป์ทวงคืน)

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ มีความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว่า ประเทศไทยมีความชอบธรรมในการขอคืนโบราณวัตถุในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากถูกลักลอบนำออกไปอย่างผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถบังคับพิพิธภัณฑ์เอกชนได้ หากนำกลับคืนมาได้จริง ต้องทำให้โบราณวัตถุดังกล่าวมีฐานะเหมือนมรดกของโลก เพียงแต่คนไทยเป็นผู้ครอบครองและดูแลรักษา ต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ดี อย่าให้เป็นการปลุกกระแสชาตินิยม แต่ต้องนำหัวใจของอารยธรรมที่แตกต่างให้โลกเห็น ว่าความแตกต่างคือความงามของมนุษยชาติ จะมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า

ทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

“ถ้าเจรจากันได้ ก็น่าจะนำกลับมา เขาก็ต้องยอม ตอนเอาไป ก็ใช้วิธีลักลอบทั้งนั้น ไม่มีใครขออนุญาต แต่หากมีกระบวนการระหว่างพ่อค้าทั้งไทยและต่างชาติร่วมมือกันซื้อแล้วขนออกไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอกชน รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถบังคับพิพิธภัณฑ์พวกนี้ได้ ถ้าเป็นของรัฐก็อาจจะง่ายหน่อย ของเอกชนต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

Advertisement

อย่างไรก็ตามประเด็นแบบนี้ต้องคุยกันดีๆ อย่าให้เหมือนแย่งของกัน หรือปลุกกระแสชาตินิยม ถ้าเอากลับมาได้ ต้องทำให้มีฐานะเป็นมรดกของโลก เพราะมรดกทางวัฒนธรรม แม้คนทำจะเป็นคนละประเทศ แต่ผลงานที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปะชั้นสูง ส่วนใหญ่มีคุณค่าเหนือความเป็นของแต่ละชาติ มีความงดงามระดับมนุษชาติ ดังนั้นในทางอุดมคติ ควรถือเป็นของโลก

ถ้าคิดถึงระยะยาว ต้องใช้ปัญหาพวกนี้เป็นแบบเรียนในการทำความเข้าใจให้คนไทยทราบว่ามรดกที่ต่างชาติเห็นแล้วชอบ เพราะเป็นศิลปะที่สวยงาม ระดับสากล ควรภูมิใจในส่วนนี้  อย่าพยายามให้เป็นคำตอบเดียวว่า ชาติต้องเป็นเจ้าของ คนอื่นห้ามชื่นชมความงาม แต่ควรเน้นการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง มรดกที่มากับประวัติศาสตร์ คือตัวอย่างของความไม่เหมือน เบื้องหลังของมันมีศิลปะที่อยู่เหนือเส้นเขตแดน ศ.ดร.ธเนศกล่าว

 

Advertisement
ภาพในล้อมกรอบสีส้ม-ภาพถ่ายในหนังสือ ‘ศิลปะสมัยลพบุรี’ ของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510 ก่อนทับหลังและเสาประดับกรอบประตูสูญหายกระทั่งพบว่าจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียชอง-มูน ลี ในสหรัฐอเมริกา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image