ร่างพ.ร.บ.บริหารงานบุคคลฯ สะดุด อาจารย์ซัดไม่ตอบโจทย์ ‘พนักงาน-ขรก.’

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ….เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการศธ.และที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ตามลำดับ โดยมีนพ.โศภณ นราธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) นายขจร จิตสุขุมมงคล รองกกอ. นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ(CHES) และนางพัทนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการ CHES นายอติชาติ ภูมิวณิชชา ตัวแทนก.พ.อ น.ท.สุมิตร สุวรรณ ตัวแทนอนุกรรมการปรับปรุงร่างฯ นายประสงค์ ผ่องภิรมณ์ ตัวแทนสมาคมพนักงานมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแก่งประเทศไทย(ปอมท.) คณาจารย์ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมประชุม

นายรัฐกรณ์ กล่าวว่า ตนได้แจ้งที่ประชุมว่าประเด็นคัดค้านของทปสท.ที่ปรากฏในเอกสารการประชุมวันนี้เป็นผลสรุปจากการหารือร่วมกันระหว่าง ทปสท.ปอมท. และ CHES หลายครั้ง โดยที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งจะไปยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษานั้น จะส่งผลกระทบกับข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย รวมทั้งกับสถาบันด้วย ที่สำคัญไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของข้าราชการที่ต้องการแยกบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ออกจากข้าราชการพลเรือนอื่น และการปรับเพิ่มเงินเดือน 8% เพื่อให้เทียบเท่าข้าราชการครู

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น ต้องการให้มีมาตราการให้แต่ละสถาบันจ่ายเงินเดือนให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปี 2542 คือสายวิชาการ 1.7 เท่า สายสนับสนุน 1.5 เท่าของข้าราชการ ให้มีระบบสัญญาจ้างที่มั่นคงและเป็นธรรม จัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เป็นผู้บริหาร จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมของพนักงาน หรืออาจหาช่องทางให้พนักงานสามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ซึ่งเรื่องนี้หลายประเด็นสามารถแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้ เพราะใช้บังคับเฉพาะกับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการเท่านั้น ส่วนสถาบันอุดมศึกษาในกำกับ มีข้อบังคับบริหารงานบุคคลของตัวเองอยู่แล้ว

นายรัฐกรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์ เป็นพ.ร.บ.กลางร่วมกันทุกมหาวิทยาลัยได้ หลังจากนั้นที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ตอบโจทย์พนักงานแล้ว ยังกดขี่ลดศักดิ์ศรีและความมั่นคงของข้าราชการลงอีกด้วย

Advertisement

“นายขจร ได้เสนอที่ประชุมว่าเห็นควรให้มีการชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน ขณะที่นพ.โศภณ ได้กล่าวสรุปว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มารับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลของสถาบันอุดมศึกษาได้ตรงจุด ขอให้ฝ่ายเลขาฯ สรุปความคิดเห็นทั้งหมดแล้วแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้อีกครั้ง และนำเสนอต่อที่ประชุมก.พ.อ.ต่อไป” นายรัฐกรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image