สกู๊ป น.1 ‘โพธิสัตว์’ ประโคนชัย จุดชนวนทวงคืน

กลายเป็นประเด็นข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ สำหรับกระแส ‘ทวงคืน’พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์จากปราสาทปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ ถูกบริษัทเอกชนนำออกประมูลขาย มีผู้ซื้อไปในราคา 92,500 ดอลลาร์สหรัฐ

“มติชน” เดินหน้าเกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง แม้หลายฝ่ายจะยอมรับว่ายากจะทวงคืนสำเร็จ แต่นักวิชาการหลายรายต่างเสนอแนวคิดเพื่อหาลู่ทาง รวมถึงกรมศิลปากรเดินหน้าประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอีกทางหนึ่ง เป็นการทำทุกวิถีทางในการทวงคืนสมบัติชาติกลับมา

ล่าสุด นักวิจัยชาวไทยในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยกับ “มติชน” ว่า ยังมีโบราณวัตถุจากประเทศไทยอีกหลายชิ้นใน The Metropolitan Museum of Art หรือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน ในนิวยอร์ก หนึ่งในนั้นคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ มีป้ายคำอธิบายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพบที่ ‘ปราสาทปลายบัด 2’ สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับความหวังในการทวงคืนสมบัติชาติกลับสู่บ้านเกิด

Met museum

Advertisement

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดสถานการณ์ลักษณะเช่นนี้ เมื่อย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เคยมีการทวงคืน “ทับหลังนายราณ์บรรทมสินธุ์” จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก สหรัฐอเมริกา เป็นเหตุการณ์สุดเข้มข้นในยุคนั้น

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มจากการทวงคืนโดยทางราชการไทย ใช้เวลานานเกือบ 10 ปี แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และขรรค์ชัย บุนปาน สองผู้ก่อตั้ง ‘มติชน’ ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนนานาชาติ ให้เสนอข่าวต่อเนื่องเรื่องสหรัฐลักลอบขนทับหลังจากไทย แล้วได้พลังมวลชนจากคนไทยในอเมริกา โดยเฉพาะในเมืองชิคาโก รวมถึงนักศึกษาทุกระดับ แม้แต่คนอเมริกันเองส่วนหนึ่งยังรวบรวมทุนขอซื้อส่งคืนไทย สะท้อนให้เห็นถึง สำนึกร่วมนานาชาติ’ ไม่ใช่เฉพาะคนไทย หลักฐานสำคัญที่ใช้คือ ภาพถ่ายของ มานิต วัลลิโภดม นักปราชญ์ของกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ยืนยันว่าเคยอยู่ที่ปราสาทพนมรุ้ง ประเทศไทย

ไทยทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไทยสำเร็จ เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าชี้ชัดว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง โดยมานิต วัลลโภดม
ไทยทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไทยสำเร็จ เพราะมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าชี้ชัดว่าเคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง โดยมานิต วัลลโภดม (ภาพจากสมาคมนักศึกษาเก่า ม.ศิลปากร)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ยังเสด็จไปอธิบายให้ประชาคมเมืองชิคาโกเข้าใจ สุดท้าย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงกลับคืนสู่เมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2531

Advertisement

เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ครั้งนั้น กับกรณีพระโพธิสัตว์ในครั้งนี้ มีทั้งความเหมือนและต่าง

เริ่มที่ความแตกต่าง สิ่งสำคัญที่หลายฝ่ายให้น้ำหนักตรงกันคือ ‘หลักฐาน’ โดยเฉพาะกรณีพระโพธิสัตว์ถูกนำมาประมูลอ้างว่าได้มาจากประโคนชัย แต่หากจะทวงคืนก็ขาดหลักฐานเช่น ภาพถ่ายเก่าว่าเคยอยู่ในเมืองไทยจริงๆ แม้จะมีบทความที่เขียนโดย เอมม่า ซี บังเกอร์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ ตีพิมพ์ในวารสารอาร์ต ออฟ เอเชีย เมื่อ ค.ศ.1970 อีกทั้งประติมากรรมดังกล่าวถูกขายไปแล้ว ก็ยิ่งยากจะติดตาม

ขณะที่ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระติดตามเรื่องนี้มานานหลายปี ตั้งแต่ยังไม่เกิดกระแสข่าว ได้ออกมาเสนอว่า ควรดันให้ปราสาทปลายบัดเป็นมรดกโลก ร่วมกับเส้นทางปราสาทหินพนมรุ้ง พิมายและเมืองต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสาร เพื่อให้การทวงง่ายขึ้น

“ขอยืนยันว่าปราสาทปลายบัดควรเป็นมรดกโลก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้นกำเนิดของดินแดนชาวพุทธที่สืบต่อกันมาจนถึงราชวงศ์มหิธรปุระของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ใช้เมืองพิมายเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรเขมร มีการพบประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเยอะมาก อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ศิลปะเขมรแบบไพรกเมง-กำพงพระ หรือร่วมสมัยกับศิลปะแบบทวารวดี อายุมากกว่าพันปีมาแล้ว” ทนงศักดิ์กล่าว

ทว่า มณฑิรา หรยางกูล อูนากูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) บอกว่า การได้เป็นมรดกโลก ไม่ส่งผลเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุ เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายคนละฉบับ กล่าวคือ การขอคืนมรดกทางวัฒนธรรม มีอนุสัญญาชื่อว่า The UNESCO convention 1970 หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองโบราณวัตถุจากการลักลอบค้าโดยผิดกฎหมาย แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนาม

อย่างไรก็ตาม โชติวัฒน์ รุญเจริญ นักวิชาการอิสระ มองว่า แม้การเป็นมรดกโลกไม่มีผลต่อการทวงคืนในด้านกฎหมาย แต่เชื่อว่ามีอิทธิพลในเชิง ‘จิตวิทยา’

มาถึงความคืบหน้าล่าสุด ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ ม.นอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า มีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจากประโคนชัยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิแทน นิวยอร์ก ได้รับการยกย่องว่างามที่สุด มีสภาพสมบูรณ์กว่าองค์ที่ถูกบริษัทนำมาออกประมูล

คำอธิบายในป้ายระบุชัดเจนว่าพบที่ปราสาทปลายบัด 2 อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์

อวโล metropolitan

ดร.รังสิมาบอกถึงความรู้สึกว่า อยากได้โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีหลายชิ้น คืนสู่เมืองไทยทั้งหมด เพราะ ‘ของใคร ใครก็รัก’ อีกทั้งเป็นสิ่งที่บอกถึง‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ เชื่อว่ากลุ่มคนไทยในอเมริกายินดีประสานงานและให้ความร่วมมือในการดำเนินการหากมีกระแสความต้องการทวงคืนจากคนไทย

เมื่อมาถึงตรงนี้ สิ่งที่คล้ายคลึงกันกับกรณีทวงทับหลังนารายณ์ มีอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1.ทั้งทับหลังนารายณ์ และโพธิสัตว์ อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือสถาบันศิลปะ นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า การทวงคืนมีความเป็นไปได้มากขึ้นกว่าการอยู่ในความครอบครองของเอกชนหรือตัวบุคคล 2.เกิดกระแสจากภาคประชาชน แม้ยังไม่เท่าเหตุการณ์ทับหลังนารายณ์ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่าง

ประเด็นนี้ ดร.รังสิมาให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อเมริกาไม่มีหน่วยงานแบบกรมศิลปากร ผู้ซื้อหรือรับบริจาคโบราณวัตถุคือตัวพิพิธภัณฑ์ ต้องแยกส่วนกับความเป็นประเทศของอเมริกา ส่วนการทวงด้วยกฎหมายคงไม่สำเร็จ ต้องทวงด้วยจริยธรรม ศีลธรรม และความรู้สึกผิดที่ครอบครองของคนอื่น ฝรั่งเรียกว่า Moral Persuasion

“เขาไม่มีกรมศิลปากรนะ คนซื้อคือพิพิธภัณฑ์ถ้าจะทำอะไร ไม่ต้องไปต่อรองกับประธานาธิบดีหรือประเทศ เขาไม่เกี่ยวกัน ส่วนที่ผู้เสนอจะผลักดันให้เขาปลายบัดเป็นมรดกโลก แล้วใช้สหประชาชาติมากดดัน คิดว่าจะช้าเกินไป ควรทวงด้วยกรณีมนุษยธรรมจะทำได้ทันทีกว่า” ดร.รังสิมากล่าว

ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่ต้องเกาะติดกันต่อไป สถานการณ์จะดำเนินไปถึงจุดใด พระโพธิสัตว์จะได้คืนกลับสู่ประเทศไทยดังเช่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์หรือไม่ รวมถึงแนวโน้มการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐของไทยที่อาจต้องหันมาพิจารณาอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ช่างเข้มข้น ชวนติดตาม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image