ศธ.ผนึกซีจีเอช เพิ่มทักษะสายอาชีพนักเรียนประถม นำร่อง 50 โรง ใน 7 จังหวัด

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้สายอาชีพระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย “เอดูเคชั่น ออน วิลส์ บาย ซีจีเอช (Education on Wheels by CGH)” เปิดเผยว่า มีความยินดีที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ ‘ซีจีเอช’ เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาของเยาวชนไทย และจัดทำโครงการเพื่อการศึกษาที่มีประโยชน์แก่สังคมในวงกว้าง โดย ศธ.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนหลายส่วน ทั้งการพัฒนาหลักสูตร และองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึง การคัดเลือกสถาบันการศึกษาและบุคลากรที่เหมาะสมร่วมดำเนินโครงการ

นายทอมมี่ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีจีเอช กล่าวว่า นโยบายการของบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเยาวชนไทยให้มีศักยภาพ และคุณภาพ พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติ และเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทจึงริเริ่มโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้สายอาชีพระดับชั้นประถมปลายขึ้น โดยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และขยายโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณของนักเรียนในสายอาชีพที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในไทยที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนประถมขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา 50 โรงเรียน ได้แก่ จ.นครปฐม 7 โรง จ.กาญจนบุรี 7 โรง จ.ฉะเชิงเทรา 6 โรง จ.น่าน 7 โรง จ.พะเยา 8 โรง จ.หนองคาย 7 โรง และ จ.หนองบัวลำภู 8 โรง พร้อมประสาน สอศ.เพื่อให้นักศึกษาอาชีวะเข้ามาสอนพื้นฐาน และฝึกปฏิบัติจริง จนนักเรียนช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น อาทิ การซ่อมท่อประปา โต๊ะ หรือเก้าอี้ การซ่อมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น และการปลูกผักสวนครัวเพื่อดำรงชีพในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังต่อยอดให้นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบอาชีพจนสร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง และครอบครัว รวมถึง ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้ผู้อื่นต่อไปในอนาคต

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ.ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาส่งตัวแทนนักศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.ที่เชี่ยวชาญในด้านงานช่างทั่วไป งานคอมพิวเตอร์ และการเกษตร เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 600 คน จากสถานศึกษา 7 จังหวัด เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถ และทักษะในการสอน จนเกิดความชำนาญ พร้อมเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ นักเรียนระดับประถม ซึ่งโครงการนี้จะช่วยยกระดับ และส่งเสริมให้นักศึกษาอาชีวศึกษาก้าวขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย นอกจากนี้ สอศ.ยังพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนชั้นประถมปลาย โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ทั้งฝึกคิด และลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิด และลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image