ยูเนสโกประกาศเกียรติคุณ ‘เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี’ บุคคลสำคัญของโลก

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 11 มิถุนายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังสระปทุมไปยังหอประชุมจุฬาฯ เพื่อเป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี บุคคลสำคัญของโลกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาล โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สมาชิกราชกุลมาลากุล พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ทายาทเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี และผู้บริหารจุฬาฯ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในนามคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ 150 ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2441 หรือวันนี้เมื่อ 119 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งเป็นพระยาวิสุทธิสุรยศักดิ์ อัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงชมเชยถึงความมีอุตสาหะ รอบคอบ และมีปัญญาเฉียบแหลมในการกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อเสนอแนะการปรับปรุงการจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ หรือความเห็นที่จะจัดการศึกษาของนักเรียนสยามในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการศึกษา 2441 ซึ่งเป็นแผนการศึกษาชาติฉบับแรกที่วางรากฐานระบบการศึกษาของสยามให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงถือได้ว่าเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นหนึ่งในปัญญาชนสยามผู้จุดประกายความคิดในการพัฒนากำลังคนด้วยการศึกษา รวมทั้ง การปลูกฝังจรรยา และหน้าที่พลเมืองที่ ศธ.ได้น้อมนำมาเป็นเป้าหมายการจัดการศึกษาในทุกกาลสมัย

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวอีกว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จึงเสนอชื่อเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีเข้ารับการพิจารณาเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก ในโอกาส 150 ปีชาตกาลวันที่ 16 เมษายน 2560 ซึ่งที่ประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 38 ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 โดยเป็นคนไทยลำดับที่ 27 ที่ได้รับเกียรติยศดังกล่าว คณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวาระ 150 ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีบุคคลสำคัญของโลก ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการตลอดปี 2559 – 2560 รวมทั้ง กำหนดจัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏต่อสาธารณะ

ดร.กวาง-โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาแห่งเอเชียและแปซิฟิกขององค์การยูเนสโก กล่าวในการอ่านประกาศเกียรติคุณเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ความว่า ในโอกาส 150 ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ยูเนสโกขอประกาศเกียรติคุณท่านในฐานะบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการในสาขาการศึกษาสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ในราชอาณาจักรไทย ดังนี้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นบุรพชนด้านการศึกษาของชาติ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมีความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติด้วยการพัฒนาระบบการศึกษา เห็นได้จากการกราบบังคมทูลพระกรุณาเสนอความเห็นในการจัดการศึกษาในสยามอันเป็นที่มาของ โครงการศึกษา 2441 ซึ่งเป็นเอกสารเชิงนโยบายฉบับแรกที่กำหนดทิศทางการจัดการศึกษา ทั้งในเชิงระบบ และการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับการมาตรฐานสากล

Advertisement

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า ตลอดชีวิตราชการในตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีได้สนองพระเดชพระคุณด้านการพัฒนาระบบการศึกษาด้วยอุตสาหะ และมองการณ์ไกล โดยเฉพาะการขยายโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนหลวงทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งเป็นแบบอย่างในยุคเริ่มแรกของการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ผลักดันวิสัยทัศน์นี้ให้แพร่หลายตราบจนปัจจุบัน วิสัยทัศน์ที่สมควรยกย่องอีกประการหนึ่ง คือการให้ความสำคัญต่อการอุดมศึกษาในประเทศไทย ด้วยเชื่อว่าผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูง จะเป็นรากฐานให้ประเทศมีความวัฒนาสถาวร เห็นได้จากการเน้นย้ำถึงความจำเป็นของระบบการศึกษาในการผลิตกำลังคนเพื่อสนองระบบราชการ และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบสัมมาชีพของพลเมือง อาทิ การก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นจุฬาฯ เมื่อ พ.ศ.2459 โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ และแห่งที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวคิดนี้ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นหลักในการบูรณาการของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต่อยอดสู่ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาในภูมิภาค

ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ยังได้รับการยกย่องจากทั่วทั้งภูมิภาคว่าเป็นนักคิดนักเขียนที่ส่งเสริมการปลูกฝังจรรยา และหน้าที่พลเมืองด้วยการศึกษา ด้วยหวังที่จะบ่มเพาะทัศนคติ และค่านิยมความสามัคคี และความเป็นไทย หนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิดจนทุกวันนี้ ได้แก่ หนังสือสมบัติของผู้ดี เมื่อ พ.ศ.2443 และหนังสือจรรยาแพทย์ เมื่อ พ.ศ.2450 การเรียนรู้หน้าที่พลเมืองผ่านงานเขียนของท่าน มีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึกของคนไทยให้หวงแหนเอกลักษณ์ของชาติ และรอดพ้นภัยคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกในยุคสมัยนั้น ที่สำคัญ แนวคิดของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีในการกำหนดการศึกษาภาคบังคับยังเป็นที่จดจำในภูมิภาคด้วย ท่านมีส่วนริเริ่มในการตรา พ.ร.บ.ประถมศึกษาฉบับแรก ซึ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2462 หรือเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมแล้วได้ 5 ปี มรดกทางความคิดในการกำหนดจำนวนปีที่พลเมืองต้องได้รับการศึกษาขั้นต่ำ ได้รับการสานต่อ และเจริญรุดหน้าด้วยความร่วมแรงร่วมใจของนักการศึกษาชั้นนำในภูมิภาค รวมถึง ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผู้เป็นบุตรของท่านในอีก 4 ทศวรรษต่อมา มรดกด้านการศึกษาที่เกิดจากการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในเอเชีย เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจตราบจนปัจจุบัน

“แนวความคิด และงานเขียนด้านการศึกษาของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ตลอดช่วงชีวิตของท่านได้รับการถ่ายทอด และสานต่อในระดับโลก โดยเฉพาะความพยายามในการส่งเสริมการเรียนรวมที่เท่าเทียม และตลอดช่วงชีวิตของปวงชนซึ่งรัฐบาลไทยได้ถือปฏิบัติ และร่วมมือกับประชาคมโลกในการผลักดันให้เกิดขึ้นภายใน พ.ศ.2573 ด้วยเหตุนี้ ยูเนสโกรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้นในประเทศไทยในโอกาส 150 ปีชาตกาลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ในครั้งนี้” ม.ล.ปนัดดา กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image