ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ? ‘เศียรพระศรีสรรเพชญ์’ หลากมองมุมต้องฟัง !

คืบหน้ากรณี ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เสนอว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังหลวง พระนครศรีอยุธยา โดยการศึกษาจากหลักฐานด้านเอกสารและรูปแบบศิลปะที่สอดคล้องกัน เช่น สถานที่พบ, ขนาด, ลักษณะพระพักตร์ เป็นต้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดดังกล่าวผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ เช่น นายสายัณห์ ไพรชาญจิตร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กว่า ในด้านแนวคิด ตนเห็นว่ามีความเป็นไปได้มาก แต่นายรุ่งโรจน์ต้องเพิ่มของหลักฐาน เหตุผล และภาพสันนิษฐานให้ชัดเจนมากกว่านี้ โดยชื่นชมที่มีความกล้าที่จะนำเสนอ ทั้งยังมีการค้นคว้าได้ดีพอสมควร ขอให้ทำต่อไป

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนเคยนำเสนอแนวคิดเดียวกันนี้มาแล้ว แต่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องตลก

(จากซ้าย) ประทีป เพ็งตะโก, รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, ปติสร เพ็ญสุต
(จากซ้าย) ประทีป เพ็งตะโก, รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, ปติสร เพ็ญสุต

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องของมุมมองทางวิชาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลและหลักฐาน หากมองความเป็นไปได้ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นเศียรพระพุทธรูปดังกล่าวกับพระศรีสรรเพชญ์ อยู่ร่วมสมัยกัน อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่นายรุ่งโรจน์ต้องต้องสอบเพิ่มเติม เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญตามหัวเมืองต่างๆ รวมถึงแกนพระพุทธรูปที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ลงไปปฏิสังขรณ์ แล้วเหตุใด จึงไม่อัญเชิญเศียรลงไปด้วย นอกจากนี้ ต้องคำนวณว่าหากอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทั้งองค์ จะประดิษฐานในวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ได้หรือไม่ เพราะเป็นพระพุทธรูปประทับยืน

Advertisement

“ตอนนี้มีความเป็นไปได้ในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ถ้าจะฟันธงว่าก็ยังเป็นเรื่องที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น โดยมีประเด็นที่ยังต้องตรวจสอบ เพราะรัชกาลที่1 โปรดให้อัญเชิญแกนพระพุทธรูปตามหัวเมืองต่างๆ รวมถึงที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งมีการอัญเชิญแกนพระพุทธรูปลงไปเพื่อจะซ่อม แต่สุดท้ายไม่ซ่อมเพราะชำรุดมาก คำถามก็คือ ทำไมท่านไม่เอาเศียรลงไป หรือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปคงต้องนึกถึงพระเศียรส่วนสำคัญที่สุด อีกประเด็นหนึ่งคือสัดส่วนซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นประพุทธรูปประทับยืน ต้องคำนวณว่าหากเต็มองค์ จะสามารถอยู่ในวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ได้หรือไม่” นายประทีปกล่าว

วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา สถานที่พบพระเศียรขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในพช.พระนคร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่า เป็นเศียรของพระพุทธรูปสำคัญองค์ใด
วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา สถานที่พบพระเศียรขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในพช.พระนคร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่า เป็นเศียรของพระพุทธรูปสำคัญองค์ใด

สำหรับประเด็นรัชกาลที่ 1 ไม่อัญเชิญเศียรพระพุทธรูปลงมาปฏิสังขรณ์นั้น นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ตนเชื่อว่า รัชกาลที่ 1 ไม่ทรงทอดพระเนตรเห็น เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังโบราณ ก็ไม่เคยทรงกล่าวถึงเศียรดังกล่าวในเอกสารต่างๆเลย ตนจึงเชื่อว่า เศียรดังกล่าว ถูกฝังดินเพื่อทำลายขวัญของเมือง เหมือนในกรณีเมืองนครหลวงของกัมพูชา เมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงศาสนาครั้งใหญ่ พระประธานของปราสาทบายน คือ พระชัยนาทพุทธมหานาถ ก็ถูกนำไปทิ้งในบ่อน้ำ

นายปติสร เพ็ญสุต อาจารย์ประจำสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นอาจต้องตรวจสอบว่าทะเบียนโบราณวัตถุที่บันทึกไว้มีความแม่นยำเพียงใด เศียรพระพุทธรูปดังกล่าวพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์จริงหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ว่า เหตุใด เหตุใดรัชกาลที่ 1 ไม่ทรงอัญเชิญพระเศียรลงมา ก็เป็นที่น่าสงสัย อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า ขื่อคาและกระเบื้องของวิหารพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งมีจำนวนมหาศาลอาจทับอยู่ จึงมองไม่เห็น คงเหลือแต่ส่วนพระวรกาย เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วเมื่อพระพุทธรูปถูกทำลายโดยการสุมไฟลอกทองอย่างกรณีพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระเศียรย่อมหลุดออกก่อน
“การทำทะเบียนสมัยโบราณมันไม่เป็นระบบ ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามาจากวิหารนี้จริงๆหรือมาจากวัดอื่น ส่วนประเด็นที่ว่าทำไม รัชกาลที่1ไม่อัญเชิญพระเศียรลงมานั้น ไม่รู้ว่าถ้ามีการเผาลอกทองจนเกิดการถล่ม จะสามารถคุ้ยซากที่เหลือออกมาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกระเบื้องหลังคาต้องมหาศาล และพระเสียรอาจโดนขื่อทับ กลายเป็นการฝังพระเศียรลงไปหรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะถ้าไปดูโบราณสถานต่างๆที่พังลงมา จะพบว่ากองกระเบื้องสูงมาก” นายปติสรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image