นักวิชาการจุฬาฯ แนะวิจัยทั้งระบบก่อนฟื้นหลักสูตรผลิตครู 4 ปี หวั่น ส.ค.ศ.ท.ตกเป็นเครื่องมือ

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมการคุรุสภาที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการให้กลับไปผลิตครู 4 ปี โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งมีนายไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา เป็นประธาน ไปจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบ ว่า ตนอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตรผลิตครู 4 ปี เป็น หลักสูตร 5 ปี ซึ่งในช่วงนั้นเพื่อต้องการยกฐานะครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับ และรับประกันว่าในอนาคตจะได้รับการขึ้นเงินเดือนให้มากขึ้น แต่ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับว่า การผลิตครู 4 ปีมีข้อเสียอย่างไร ดังนั้น หากจะปรับมาเป็นผลิตครู 4 ปีอีกครั้ง จึงอยากให้มีงานวิจัยรองรับ ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนในทันที ที่สำคัญไม่อยากให้ยึดเรื่องระยะเวลามาเป็นตัวตัดสิน แต่อยากให้วิเคราะห์แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลิตครูให้ตรงตามความต้องการของประเทศ

“ส่วนตัวเห็นด้วยที่ต้องปฎิรูประบบการผลิตครู โดยวิเคราะห์ให้ขาดว่าอนาคตเราต้องการครูที่มีคุณลักษณะอย่างไร เพื่อผลิตครูให้ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ ส่วนตัวมีข้อกังวลว่าประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เองกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือ เนื่องจาก ศธ.ต้องการจะปรับระบบการสอบบรรจุครู ให้ใช้ระบบเดียวกับการสอบบรรจุข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงอยากให้ผู้ที่เรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มองให้รอบด้านมากขึ้น” นายสมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image