นักวิจัย มจธ.เร่งวิจัยพัฒนายาฆ่าเชื้อรา หวังลดปัญหาเชื้อดื้อยา

น.ส.นิษก์นิภา สุนทรกุล สายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ตนเป็นอาจารย์ที่ทำงานวิจัยทางด้านยีสต์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวประเภทยูคาริโอต มีทั้งประโยชน์ และโทษต่อมนุษย์ ยีสต์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเพื่อการผลิตสารมูลค่าสูงนี้ คือยีสต์ Saccharomyces cerevisiae หรือที่รู้จักกันดีว่ายีสต์ขนมปัง ซึ่งใช้เป็นต้นแบบในการศึกษา เนื่องจากยีสต์ชนิดนี้มีข้อมูลทางพันธุกรรมที่ครบถ้วน เลี้ยงง่าย โตไว และปลอดภัย จึงเหมาะสำหรับการศึกษา และการทำวิจัยของนักศึกษา นอกจากนี้ ยีสต์ใช้ต้นทุนในการศึกษา และการดูแลรักษาต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงเหมาะกับงานวิจัยที่ทำในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับกลางอย่างไทย ที่สำคัญอีกประการคือ ยีสต์ต้นแบบที่ใช้มียีน และโปรตีนหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบในมนุษย์ และในยีสต์ก่อโรคที่สำคัญ เช่น ยีสต์แคนดิดา ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาส และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อทั้งในไทย และทั่วโลก

น.ส.นิษก์นิภา กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยด้าน Biomedical Science ที่ทำอยู่ เกี่ยวข้องกับการพัฒนายาต้านเชื้อรา โดยได้นำยีสต์ต้นแบบมาใช้ในงานวิจัยเพื่อศึกษาการตอบสนองของเซลล์ต่อสารต่างๆ รวมถึง ยา โดยได้ทดสอบสารสำคัญจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่พบในไทย โดยทีมวิจัยได้ค้นพบฤทธิ์ทางชีวภาพในการฆ่ายีสต์ต้นแบบ และยีสต์ก่อโรคจากสารสกัดเชื้อรา Xylaria มีลักษณะคล้ายเห็ด พบได้ตามขอนไม้ที่ผุพังในป่าไม้ของไทย เนื่องจากยาที่ใช้ในการฆ่าเชื้อราในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชนิด และเกือบทั้งหมดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาเดิมซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดภาวะการดื้อยาขึ้น ปัญหาเชื้อดื้อยานับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ทีมวิจัยจึงได้นำสารที่ได้จากธรรมชาตินี้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ผลงานวิจัยบ่งชี้การเสริมฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ทำให้ลดปริมาณยาที่ใช้น้อยลงมาก เป็นการค้นพบที่ถูกรายงานเป็นครั้งแรกของโลก และตีพิมพ์ในวารสาร Future Microbiology ปี 2560 สารธรรมชาติที่พบนี้ คาดว่ามีศักยภาพสูงในการพัฒนาต่อยอดเป็นยา และเนื่องจากมีกลไกการเสริมฤทธิ์กับยาแผนปัจจุบัน จึงอาจส่งผลให้การรักษาแบบการใช้ยาผสม มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดโอกาสในการดื้อยาของเชื้อในผู้ป่วยลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ จำเป็นต้องผ่านการทดสอบในระดับสูงต่อไป จึงจะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image