ม.พะเยา ประกาศความพร้อมขึ้นแท่นมหา’ลัยแห่งการประกอบการ ยกระดับชุมชน-ผู้ประกอบการ

“ไทยแลนด์ 4.0″ หรือประเทศไทย 4.0 อีกหนึ่งโจทย์ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยใช้เป็นนโยบายในการเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนามหาวิทยาลัย หลักสูตร นิสิตนักศึกษา และงานวิจัย ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทย “มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.)” 1 ในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ด้วยปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” มหาวิทยาลัยได้มีพันธกิจชัดเจนในการเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ทำงานเชื่อมโยงชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ต่อยอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ศ.(พิเศษ) มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดี มพ.กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ทำงานเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน บูรณาการกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (University of Phayao Science Park : UPSP) และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (University of Phayao Business Incubator : UPBI) ขึ้น เป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับกอง การขับเคลื่อนโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล มาอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปี และพร้อมที่ต่อยอดส่งต่อขยายผลของโครงการ 1 คณะ 1 โมเดลให้เพิ่มมูลค่า และคุณค่าของต้นทุนทรัพยากรทางความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชุมชนยกระดับเป็นนวัตกรรม การเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการเทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา การปรับรูปแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคเหนือใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของภาคเหนือ

Advertisement

ในปี 2560 มพ.จะจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง อาทิ กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนด้านความเป็นผู้ประกอบการแก่นิสิต กิจกรรมการปรับปรุงและเตรียมพร้อมพื้นที่พัฒนานวัตกรรมร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร ในอาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ด้านความเป็นผู้ประกอบการ และโครงการ Research Commercialization for Startup (RC4S) ถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการ และสนับสนุนงบดำเนินการแก่ผู้ประกอบการตามเงื่อนไขของโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์

“มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโครงการส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฎิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลมุ่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ โดยศูนย์ประสานงานโครงการ Talent Mobility ม.พะเยา เป็นหน่วยงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและนักวิจัย จะทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานข้อมูลความต้องการระหว่างสถานประกอบการกับบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จนนำไปสู่การทำข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ในการดำเนินโครงการตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการเป็นระยะ” ศ.(พิเศษ) มณฑล กล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการเป็นระยะ ได้แก่ ระยะ Pre-Talent Mobility กลไกเตรียมความพร้อมในการส่งบุคลากรด้าน วทน.จากมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติงาน ระยะ TM-Training โครงการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาบุคลากรรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยจะจัดการฝึกอบรม 5 วันทำการ

Advertisement

ผศ.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ นักวิจัย กล่าวว่า รู้จักอุทยานวิยาศาสตร์ มพ.จาก ศ.เกียรติคุณ ไมตรี สุทธจิตต์ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มทำวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์มีส่วนสนับสนุนด้านข่าวสารแหล่งทุนวิจัยการสนับสนุนทุนวิจัย และเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ที่ผ่านมา มีโอกาสได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากอุทยานวิทยาศาสตร์ 2 โครงการ ในปี 2557 และปี 2559 และได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Talent Mobility ในปี 2560 โดยได้ทำงานวิจัยร่วมกับ น.ส.นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ซึ่งประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกาแฟ โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และช่วยผู้ประกอบการพัฒนา เพิ่มมูลค่าของเนื้อผลกาแฟที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกาแฟให้อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“ควรส่งเสริมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนที่เข้าร่วมต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ตัวอาจารย์รู้สึกมีความภูมิใจที่สามารถนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัย และเทคโนโลยี ช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ทำให้งานวิจัยสู่ห้างอย่างแท้จริง อีกทั้ง การทำงานร่วมกับสถานประกอบการ มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้กับนิสิต ส่วนนิสิตเองได้ประสบการณ์การทำงานวิจัย มองเห็นความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช่ในสถานการณ์จริง ดังนั้น อยากเชิญชวนนักวิจัยทุกคนลองทำวิจัย หรือลงไปมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ที่จะทำให้นักวิจัยได้ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่าง” ผศ.อัจฉราภรณ์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.นฤมล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถนำเสนอจุดขายได้ดีพอ แต่เมื่อได้เข้าร่วมกับ ผศ.อัจฉราภรณ์ ในการวิจัย Antioxidant ในชาเชอร์รี่กาแฟ โดยขอรับทุนสนับสนุนในโครงการของอุทยานวิทยาศาสตร์ มพ.และต่อยอดงานวิจัยด้วยโครงการ Talent Mobility ทำให้ได้รับการจัดนวัตกรรมทั้งด้านธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมาจากของเหลือทิ้งในโรงงานแปรรูปกาแฟ ทำให้ต้นทุนต่ำลง รายได้จากสินค้าใหม่เข้ามา ด้านภาพลักษณ์ของสินค้านั้น ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งใน และต่างประเทศ และด้านสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทได้เข้าร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการทำงานบริษัทเอง

“ความสำเร็จของโครงการไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเท่านั้น ยังส่องผลต่ออุตสาหกรรมแต่ละชนิดด้วย อย่างอุตสาหกรรมกาแฟ ต่อไปจะไม่เป็นเพียงประเทศผู้ผลิต และผู้บริโภคกาแฟอาศัย เทรนด์จากต่างประเทศเป็นตัวผลักดันอุตสาหกรรม แต่จะเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในการสร้างคุณค่าจากทรัพยากรของตนเอง และสามารถเป็นศูนย์กลางกาแฟของอาเซียนต่อไป” น.ส.นฤมล กล่าว

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการบริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มพ.ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2556 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 40 แห่ง ขยายเพิ่มมากขึ้นเป็น 135 แห่ง ในปี 2560 หากผู้ใดสนใจเข้าร่วมโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากหิ้งสู่ห้าง จากมหาวิทยาลัยสู่สังคม

สามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ www.upsp.up.ac.th โทร 0-5446-6666 ต่อ1283 และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ www.upbi.up.ac.th โทร 0-5446-6666 ต่อ 1281

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image