องคมนตรีแนะ ศธ.น้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของในหลวง ร.9 ใช้เป็นแนวปฏิรูปการศึกษาไทย

 

นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความรู้กับคุณธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน” ที่โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า นักคิดทั่วโลกพบมีแรง 4 ประการ ในการขับเคลื่อนโลกอนาคต ประกอบด้วย 1.กระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คนไทยอนาคต 10 ปี ต้องปรับตัวให้ทันสมัย 2.เทคโนโลยีดิจิตอล กระแสความก้าวหน้าโลกดิจิตอลเปลี่ยนวิถีชีวิต ธุรกิจ การศึกษา เด็กไทยต้องเรียนรู้ความเคลื่อนไหวสื่อดิจิตอล โดยครูต้องเรียนรู้เท่าทันสื่อ และปรับบทบาทแนะแนวเด็กในโลกที่ไร้พรหมแดนข้อมูลข่าวสาร 3.ไม่มีคนกลางอีกต่อไป ระบบการศึกษาเข้าถึงประชาชนกว้างขวาง คนทุกวัยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ติดต่อกันได้โดยสื่อดิจิตอลทั่วโลกไม่ต้องผ่านคนกลางอีกแล้ว และ 4.การก่อการร้าย เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และเกิดความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัว และภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นหน่วยกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาชาติ ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ และปรับภารกิจอย่างรวดเร็ว และการออกแบบระบบการศึกษาใหม่ ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ต้องคิดอย่างรอบคอบ และยึดผลประโยชน์สูงสุดประเทศชาติเป็นหลัก

นพ.เกษม กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการศึกษาขณะนี้ ควรน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบรมราชชนก ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานแก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง – มีคุณธรรม 3.มีงานทำ – มีอาชีพ และ 4.เป็นพลเมืองดี ทั้งนี้ ขอฝากถึง สกศ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยกันสนองพระราโชบายด้านการศึกษาในหลวง รัชกาลที่ 10 ตามที่พระราชทานไว้ 9 แนวทาง ให้รัฐบาล และประชาชนยึดเป็นหลักปฏิบัติ โดยเฉพาะแนวทางที่ 5 ทรงให้เร่งดูแลระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้ปฏิรูปการศึกษา เร่งกระบวนการเรียนรู้ให้คนไทยมีความรู้ สามารถประกอบอาชีพมั่นคง มีความเข้มแข็ง มีหลักคิดที่ถูกต้องในทุกเรื่องเพื่อลดความขัดแย้ง จึงเป็นพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่ ทรงเห็นว่าเมื่อคนไทยทุกวัยทุกระดับได้รับการศึกษาแล้ว จะเป็นเครื่องมือสร้างความปรองดองของคนในชาติได้อย่างยั่งยืน

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า สกศ.จัดประชาพิจารณ์ยกร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ใน 4 ภูมิภาค และกรุงเทพฯ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผู้บริหาร ครู ผู้แทนหน่วยงานระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ รวมถึง ผู้แทนสถานประกอบการ และภาคประชาชนต่างๆ เพื่อสังเคราะห์ประเด็นความต้องการที่เป็นรูปธรรม นำสู่การปฎิบัติได้ เพื่อพัฒนาคนไทย หรือผู้เรียนแต่ละระดับ และประเภทการศึกษา “เป็นคนดี มีทักษะ พึ่งพาตนเองได้” เป็นพลเมืองที่ดี และมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีขีดความสามารถในการทำงาน และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในยุคดิจิตอล นำไปสู่การปรับปรุง และพัฒนามาตรฐานการศึกษาชาติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

Advertisement

นายกรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนยกร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่ของ สกศ.ต้องมีจุดเน้นประเด็นสำคัญที่ชัดเจน เช่น เน้นให้เด็กรู้จักคิดเป็นวิเคราะห์ได้เป็นอันดับแรก ที่สามารถต่อยอดพัฒนาการศึกษาต่อไปได้ จึงขอเสนอแนวคิดนอกกรอบที่ควรเร่งบ่มเพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย ที่ไม่จำกัดแค่การเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น ประกอบด้วย 8 ประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกันส่งสริมคนไทยในอนาคต ได้แก่ 1.เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ยุคดิจิตอลเพื่อต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ 2.ผสมผสานหลักสูตรลูกเสือ สร้างวินัย และความเป็นพลเมืองดีในสถานศึกษา 3.แสวงหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยความคิดสร้างสรร 4.เรียนรู้ความพอเพียง พื้นฐานจากครอบครัว สถานศึกษา และสังคมรอบตัว 5.เรียนรู้การทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เคารพในความแตกต่างของคนในสังคม 6.เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยใช้หลักเหตุผลไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินแก้ปัญหา 7.สร้างแรงจูงใจ เริ่มต้นพัฒนาที่คนอันดับแรกเพื่อเปลี่ยนแปลงคนโดยไม่พึ่งกฎเกณฑ์ และกฎหมายเท่านั้น และ 8.สร้างการเรียนรู้บนความเปลี่ยนแปลง ปรับหลักสูตรตามลักษณะที่เด็กต้องการเติมเต็มในสาระวิชาที่ยังขาดอยู่ และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การบ่มเพาะการศึกษาคนไทยให้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกต้องขับเคลื่อนทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image