‘หมอธี’ โยนมหา’ลัยเคลียร์กันเอง ผลิตครู 4 ปีหรือ 5 ปี

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.)  กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) หารือเรื่องการปรับหลักสูตรการผลิตครูทั้งหลักสูตร 4 ปี และ หลักสูตร 5 ปี แต่ คณบดีฯกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)และกลุ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า รวมถึงคณบดีในกลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมบางคนก็ไม่เห็นด้วย  โดยจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการศธ.พิจารณา ใช้หลักสูตร  5 ปีต่อไป ว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ในการถกเถียงดังกล่าวก็มีทั้ง 2แนวทาง ซึ่งไม่อยากให้ไปมอง ประเด็นว่า เราจะผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี  อยากให้มองไปไกล ที่สมรรถนะครูที่จะผลิตออกมามากกว่า ส่วนใครจะผลิตอย่างไร สถาบันผลิตครูก็ต้องไปตกลงกัน  หรือหากจะผลิตทั้ง 2 หลักสูตรก็ขอให้ว่ามา

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการศธ. จะไปกำหนดอะไร แต่เป็นเรื่องที่ ทางสถาบันฝ่ายผลิตจะต้องไปตกลงกัน เบื้องต้น ทราบว่า หลังจากมีการหารือร่วมกันแล้ว อาจจะมีการเปิดสอนใน 2 หลักสูตร ทั้งหลักสูตร 4 ปีและหลักสูตร 5 ปี  ผมมองว่ามีทาง เป็นไปได้ เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็มีทั้งหลักสูตร 4 ปีและ 5 ปีเช่นเดียวกัน   ส่วนจะทันในการรับเด็กเข้าเรียนปี 2561 หรือไม่ ก็ไม่เป็นไร ผมไม่ได้สั่งการว่าต้องทัน เพราะถ้าไม่ทันก็เลื่อน  ความรับผิดชอบอยู่ที่สถาบันฝ่ายผลิตที่ต้องไปตกลงกันให้ได้”นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นนโยบายที่เร่งรับ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ในส่วนการผลิตครู 4 ปีหรือ 5 ปี ที่รัฐมนตรีว่าการศธ.บอกให้มหาวิทยาลัย ตัดสินใจเอง ดูเป็นการไม่รับผิดชอบต่อนโยบายซึ่งนพ.ธีระเกียรติ เป็นคนประกาศออกไปเอง  หรือแม้กระทั่งที่บอกว่า จะให้เปิดสอนทั้งหลักสูตร4 ปี และหลักสูตร 5 ปีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่สำคัญ คงไม่มีใครเลือกเรียน 5 ปี ทางออกในเรื่องนี้ ควรจะต้องตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งมาจากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพูดคุยหาข้อสรุปโดยต้องมีงานวิจัยรองรับ คิดให้ตกผลึกก่อนค่อยประกาศอย่างเป็นทางการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image