มหาวิทยาลัยในบริบทของ คสช. : โดย เฉลิมพล พลมุข

การศึกษาที่ดีของเด็กเยาวชนในชาติบ้านเมืองย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในภาพรวมของประชากรจะนำไปสู่การพัฒนาของประเทศชาติในด้านต่างๆ ที่ต้องมีการแข่งขันกันทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมในกระแสของบริโภคนิยม วัตถุนิยม เงินนิยม อำนาจนิยม อาจจะมีบางคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนที่ว่า ระบบการศึกษาที่ดีเป็นเช่นใด การศึกษาประเภทใดที่ตอบโจทย์ของสังคมในประเทศนั้นๆ

มหาวิทยาลัยนาลันทา ในประเทศอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจเมื่อมาถึงยุคนี้เราท่านได้รับรู้เพียงแต่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์หลายพันปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในระดับโลกอีกหลายแห่งที่ผู้คนต่างก็มีความปรารถนาจะไปศึกษาเล่าเรียน ผู้บริหารชาติบ้านเมืองไทยเราในวันนี้หลายคนได้จบการศึกษาในระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

มหาวิทยาลัยในเมืองไทยเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่อยู่หลายแห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจากโรงแพทยากรและโรงเรียนแพทยาลัย ได้รับการสถาปนาในรัชกาลที่ 6 นอกจากนั้นก็มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนกระจายอยู่ทั่วเมืองไทย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นเพื่อรองรับเยาวชนและการพัฒนาท้องถิ่นในบริบทต่างๆ แรกเริ่มเดิมทีมีทั้งหมด 41 แห่ง มาถึงยุคปัจจุบันมีเหลือ 38 แห่ง บางมหาวิทยาลัยพัฒนาการมาจากโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2547 เป็นต้นมาได้ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการทั้งระบบ ในบททั่วไปมาตรา 7 ระบุไว้ว่า ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

Advertisement

ข่าวหรือข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องก็คือ ปัญหาของการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่องทั้งการฟ้องร้องกันในศาลปกครองรวมถึงเรื่องอื่นๆ จนกระทั่ง ได้มีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2560 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 73 เล่ม 134 ตอนพิเศษ 201 ง ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา

ในข้อ 2 มีความว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ ให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้

สำหรับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า คำสั่งดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยเน้นการแก้ปัญหาที่ได้มาของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร จนทำให้การบริหารงานบางแห่งต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เป็นระบบ ขาดความต่อเนื่องและเกิดความล่าช้า คำสั่งดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ปัญหาในบางแห่ง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาภาพรวมของอุดมศึกษาทั้งระบบ…(มติชนรายวัน 11 สิงหาคม 2560 หน้า 17)

ระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยในภาพรวมหลายแห่งอาจจะรวมไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ก็อยู่ภายใต้การบริหารจัดของของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการ ตลอดถึงอธิการบดี คณบดี และคณาจารย์บุคลากรที่มีส่วนช่วยผลักดันให้นโยบายด้านการศึกษาเป็นไปตามกฎหมายบังคับและเป้าหมายหลักก็คือผลิตบุคลากรที่เป็นนักเรียนนักศึกษา หลายแห่งเปิดการศึกษาตั้งแต่โรงเรียนสาธิตปฐมวัยไปจนถึงระดับปริญญาเอก ให้เขาเหล่านั้นได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนที่ดี เก่ง มีคุณภาพของสังคมไทย…

ข้อเท็จจริงหนึ่งมีหลากหลายปัญหาและคำถามที่ยังค้างคาใจในหลายคนอาจจะมิได้รับคำตอบที่กระจ่างที่ชัดเจนทั้งระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย การได้มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย การสรรหาเพื่อให้ได้มาของอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดีหลายแห่งมีการประท้วงและฟ้องร้องกันในศาลปกครอง การบริหารมหาวิทยาลัยในมิติของระบบธรรมาภิบาล อำนาจและผลประโยชน์ การเมืองในสถาบันอุดมศึกษา การสืบทอดอำนาจโดยมองไปยังคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ยังไม่เพียงพอ คำสั่งของ คสช.ดังกล่าวดูเสมือนมีเจตนาดีที่ต้องการให้ได้คนเก่ง คนดี มีความรู้ประสบการณ์ มีความสามารถในการทำงาน อีกมุมหนึ่งอาจจะถูกตั้งคำถามที่ว่า จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดและยั่งยืนในอนาคตหรือไม่…

ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อมูลหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเกี่ยวข้องกับจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมามาเป็นข้อสังเกต ในปี พ.ศ.2554 มีผู้เข้าเรียน 2,076,074 คน สำเร็จการศึกษา 213,204 คน ปี พ.ศ.2555 มีผู้เข้าเรียน 2,078,777 คน สำเร็จการศึกษา 170,771 คน ปี พ.ศ.2556 มีผู้เข้าเรียน 2,139,922 คน ผู้สำเร็จการศึกษา 255,443 คน ปี พ.ศ.2557 มีผู้เข้าเรียน 2,066,740 คน สำเร็จการศึกษา 307,474 คน และปี พ.ศ.2558 มีผู้เข้าเรียน 2,079,315 คน สำเร็จการศึกษา 218,081 คน สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งประเทศในปี พ.ศ.2558 มีจำนวน 549,425 คน จากข้อมูลดังกล่าวเราท่านได้เห็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่าจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษามีตัวเลขที่ห่างไกลจากจำนวนที่เข้าไป คำถามหนึ่งก็คือเขาเหล่านั้นไปมีวิถีชีวิตเป็นเช่นไร..

การเป็นนิสิตนักศึกษาของใครบางคนที่มีโอกาสได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งที่มีชื่อเสียงของประเทศและมหาวิทยาลัยราชภัฏ ย่อมเป็นโอกาสของชีวิตในการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถประสบการณ์ความพร้อมในขณะที่ศึกษาเล่าเรียนไปใช้ประกอบอาชีพการงานในอนาคต

รวมไปถึงพลังที่จะช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียนบางคนอาจจะสร้างความปั่นป่วนในระบบการศึกษาและอาจจะลามไปถึงการบริหารชาติบ้านเมือง คสช.ได้มีความพร้อมในเรื่องดังกล่าวดีแค่ไหนเพียงไร

กรมสุขภาพจิตมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กไทยในปี พ.ศ.2558 ที่ว่า เด็กไทยติดเกมร้อยละ 13 ถึงขั้นคลั่งไคล้ร้อยละ 15 เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เสียเงินเฉลี่ยคนละ 1,160 บาทต่อเดือน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 30,000 ล้านบาท วัยรุ่นหญิงทุก 1,000 คนจะเป็นแม่วัยใส 54 คน ในปี พ.ศ.2554 มีแม่วัยใสคลอดลูก 129,000 คน เด็กนักเรียน ม.ต้น ดื่มเหล้าร้อยละ 16 เล่นการพนันร้อยละ 14 เสพยาในโรงเรียนร้อยละ 20 พกพาอาวุธในโรงเรียนร้อยละ 35…

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงกับนักศึกษาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย บางคนก็มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมที่กระทำความผิดทั้งกฎหมาย ประเพณีคุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่เรียนในอุดมศึกษาหลายคนมีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทำตนเป็นที่รักของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ บางคนก็สร้างชื่อเสียงให้ตนเอง ครอบครัวประเทศชาติ เขาเหล่านั้นย่อมเป็นที่ต้องการของทุกหน่วยงานอย่างไม่มีข้อสงสัย

ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ได้มีการออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 18 วรรค 3 บัญญัติไว้ว่า “การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารตาม (ข) (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา” สำหรับ พ.ร.บ.มรภ.มาตรา 29 ไม่มีข้อห้ามผู้เกษียณดำรงตำแหน่งอธิการบดี และมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารตามมาตรา 26 วรรค 1 จากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาก็สามารถกระทำได้…(มติชนรายวัน 10 มีนาคม 2560 หน้า 17)

บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็คือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ความรู้ประสบการณ์ ความสามารถ รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่น ศึกษาวิจัยและหลากหลายภารกิจ คำสั่งของ คสช.อาจจะเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อหาทางออกให้กับสถาบันอุดมศึกษา ขณะเดียวกันยังมีข้อบังคับ คำสั่ง ระเบียบที่ออกโดยทีมผู้บริหารยังคงมีช่องว่างที่อาจจะเอื้อให้ปัญหาอื่นๆ ตามมา รัฐบาลของ คสช. มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ทั้งความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน ความเสมอภาค เท่าเทียม การเสริมสร้างศักยภาพคน การสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบูรณาการการศึกษาระดับอื่น ส่งเสริมการวิจัย รวมถึงระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา จะก้าวเข้าไปบริหารจัดการอุดมศึกษาให้เป็นไปตามที่หวังได้หรือไม่…

มหาวิทยาลัยที่ดีมีคุณภาพ มีชื่อเสียงทั้งประวัติความเป็นมา คณาจารย์ที่เก่งมีความสามารถย่อมเป็นพลังดึงดูดของผู้ที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนอย่างมิต้องสงสัย มหาวิทยาลัยไทยจะก้าวข้ามไปสู่มหาวิทยาลัยโลกได้หรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image