‘หมอธี’ เผย ศธ.บรรลุข้อตกลงแบงก์ออมสิน ปรับโครงสร้างหนี้ครู

 

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีที่ธนาคารออมสินเตรียมทำข้อตกลงใหม่หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจะยกเลิกข้อตกลงทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยธนาคารมีความเห็นร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทำบันทึกข้อตกลงใหม่ร่วมกัน ว่า สกสค.และธนาคารออมสิน ได้บรรลุข้อตกในการทำข้อตกลงความร่วมมือแก้ปัญหาหนี้ครูอย่างไม่เป็นทางการ สิ่งที่ธนาคารออมสินออกมาแถลง เป็นข้อตกลงที่ตรงกัน จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ครู โดยที่ผ่านมาธนาคารออมสินจะจ่ายเงินค่าบริหารจัดการ 0.5-1% เข้ากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) แต่ในทางปฏิบัติเงินนี้กลับถูกนำไปใช้ชำระหนี้แทนครูที่ค้างชำระ ทุกครั้งที่หักเงินไปชำระเงินแทนครู จะไม่เป็น NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไม่ใช้หนี้ จึงตกลงว่าสำนักงาน สกสค.จะไม่เป็นตัวกลางในการรับเงินส่วนนี้ แต่จะให้ธนาคารออมสินนำเงินดังกล่าวไปใช้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดหนี้ให้กับครูที่มีวินัยในการชำระหนี้ เพราะถือว่าเงินส่วนนี้เป็นเงินของครูแต่ละคน ซึ่งเขาควรได้รับกลับไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ดีเพิ่มขึ้น สำหรับครูที่กังวลว่าเมื่อเสียชีวิตแล้ว จะไม่มีเงินก้อนเหลือให้ทายาท ทางธนาคารออมสิน ได้เพิ่มทางเลือกโดยให้ใช้ทรัพย์สินอื่น เช่น โฉนดที่ดินมาค้ำประกันแทนเงิน ช.พ.ค.ได้ ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินในการประกันชีวิตใหม่ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าเบี้ยประกันค่อนข้างสูง

“สำหรับเงินค่าบริหารจัดการ 0.5-1% ที่ธนาคารออมสินไม่ต้องนำส่งสำนักงาน สกสค.นั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหากับ สกสค.เพราะอย่างไรก็เป็นเงินของครู และผมไม่เห็นประโยชน์ที่ สกสค.จะต้องมาเป็นตัวกลางในการรับเงินนี้ ส่วนกรณีที่นายพิษณุ ตุลสุข อดีตปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ได้นำเงินส่วนนี้มาดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ โดยรวมหนี้ไว้ที่ สกสค.โดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการหนี้นั้น ผมมองว่าเหมือนการก่อหนี้ใหม่มาโป๊ะหนี้เก่า ซึ่งรุ่นแรกได้ปล่อยกู้ไปแล้ว ดังนั้น จะมอบหมายให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.ลงไปผลการดำเนินงานก่อน ว่าแก้ปัญหาหนี้สินครูได้จริงหรือไม่ หากแก้ไม่ได้จริง ก็อาจจะต้องยกเลิก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image