‘คนไข้’ รอ ‘หมออุดม’ ผ่าตัด ‘อุดมศึกษา’ (คลิป)

หมายเหตุ – นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวคิดและนโยบาย หลังได้รับมอบหมายงานสำคัญให้เข้ามาเป็นแม่งานหลักปฏิรูปอุดมศึกษา

๐พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการพูดคุยล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะให้รับตำแหน่งนี้
ไม่มีการคุยล่วงหน้า นายกฯขอให้มาช่วยชาติ ผมใช้เวลาคิดไม่นาน เพราะเราเองก็อยากช่วยชาติ ในเมื่อนายกฯให้โอกาสก็ยินดี แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็อยากทำ สำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ แต่จะทำให้ดีที่สุด ตอนนั้นผมบวชอยู่ที่ประเทศอินเดีย ตั้งใจบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาต่อผมมากในช่วงที่มีโอกาสได้ถวายงานในขณะที่ประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราช ก็คิดว่าอยากทำอะไรเพื่อพระองค์ท่าน และคิดว่าการบวชเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ จึงไปสมัครในโครงการบวชถวาย ร.9 ของวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร และได้ไปบวชที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย ทุกวันจะไปสวดมนต์ใต้ต้นโพธิ์ ทำให้รู้สึกซาบซึ้ง ผมบวชทั้งหมด 17 วัน ลาสิกขาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

๐การแบ่งงานเบื้องต้น ได้รับมอบหมายให้มาดูแลอุดมศึกษา
อุดมศึกษาต้องปรับและพัฒนา โดยยึดเป้าหมายของประเทศเป็นหลัก ซึ่งประเทศต้องการยกระดับตัวเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ซึ่งคือไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของประเทศ แต่การจะเกิดตรงนี้ได้มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวอย่างมาก ในการพัฒนาตนเองให้สามารถพัฒนาศักยภาพประเทศ ก้าวสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ อย่างที่บอกมาตลอดว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักอยู่ 2 อย่าง คือสร้างคนที่มีคุณภาพสูงเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ สามารถทำงานตรงไหนก็ได้ในโลกนี้ เพราะทุกวันนี้โลกแคบลง ขณะเดียวกันต้องสร้างงานวิจัย และนวัตกรรม จับมือกับภาคเอชน ต่อยอดเป็นสินค้าที่มีมูลค่า

๐มหาวิทยาลัยต้องปรับเรื่องใดบ้าง
มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างมาก เรียกว่าต้องปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบ ถึงจะทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างเช่น การผลิตบัณฑิตที่เก่งแต่ไม่ใช่ว่าเก่งแค่ในประเทศ ต้องเก่งและสามารถไปทำงานได้ทั่วโลก เพราะถ้าดูประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี ฯลฯ เขาสร้างบัณฑิตเพื่อไปทำงานได้ทั่วโลก ตรงนี้สำคัญ และถ้าจะทำให้เด็กเก่งได้อย่างนี้ การเรียนการสอนต้องปรับ จากเดิมเน้นเลคเชอร์ อาจต้องลดลง และส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมได้ การเลคเชอร์ช่วยได้แค่จำ เข้าใจ ไม่สามารถยกระดับไปสู่การคิดวิเคราะห์นวัตกรรมหรือต่อยอดไปเป็นภูมิปัญญาจริงๆ ได้

Advertisement

การสร้างนวัตกรรมได้จะต้องได้เจอประสบการณ์จริง ยกตัวอย่าง วิทยาลัยเทคนิคของประเทศญี่ปุ่น เรียนแบบเลคเชอร์ ในห้องเรียนเพียง 3 สัปดาห์ จากนั้นไปทำงานในโรงงาน ครูตามไปสอนในโรงงานด้วย ก่อนนำปัญหาที่พบจากการทำงานมาร่วมกันคิด ทำวิจัย พออีกปีจะเปลี่ยนไปอีกโรงงานหนึ่ง เพื่อให้มีประสบการณ์ คิดแก้ไขปัญหาได้ ทำวิจัยไปด้วย ต่างกับมหาวิทยาลัยเราที่ 4 ปี เรียนแต่ในห้องเรียน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ ตรงนี้คือสิ่งที่อย่างจะเน้นว่ากระบวนการเรียนการสอนต้องปรับ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตมีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งตอนนี้เป็นภาษาของคนทั้งโลก ดังนั้น ถ้าสื่อสารกับใครไม่ได้ ไม่มีทางที่จะไปทำประโยชน์ได้ เก่งแค่ไหน แต่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ไม่สามารถอธิบาย ต่อรองได้ ไม่มีใครรับคุณทำงาน หรือทำงานก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องเน้นจริงจังให้บัณฑิตทุกคนต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำภาษาอังกฤษ ซึ่งในสมัยที่ผมเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ได้ออกเกณฑ์ให้เด็กที่เข้าเรียนตั้งแต่ปี 2561 ทุกคนต้องผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น ยังรวมถึงอาจารย์ที่ต้องเข้ารับการทดสอบภาษาอังกฤษด้วย

อีกเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมคือ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้นักศึกษา เรื่องนี้ชัดเจนเพราะอนาคตข้างหน้า ดิจิทัลจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมให้เด็กมีดิจิทัลสกิล ไม่ใช่แค่ถ่ายเซลฟี่ ส่งข้อความผ่านไลน์ แต่ต้องสามารถค้นคว้าหาข้อมูล ส่งข้อมูลต่างๆ โดยที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์แล้ว ไม่ใช่เห็นแล้วส่งต่อทันที รวมทั้งต้องสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ได้ ทักษะทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนทักษะอย่างอื่นๆ เป็นเรื่องพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยสอนอยู่แล้ว เช่น คุณธรรมจริยธรรม การเป็นผู้นำ ก็เป็นสิ่งที่ต้องมี

Advertisement

๐หลักสูตรการเรียนการสอนต้องปรับหรือไม่
หลักสูตรก็มีปัญหา ไม่เคยปรับให้ทันสมัย อนาคตเด็กที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะลดลงด้วย คนสูงอายุจะมากขึ้น และเด็กรุ่นใหม่จะไม่เหมือนรุ่นเรา ตอนนี้เข้าอินเตอร์เน็ตก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง อนาคตเด็กจะเข้ามาเรียนเฉพาะในสิ่งที่เขาไม่รู้ และมาเรียนเฉพาะทักษะบางอย่างที่ไม่มีในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับ คณะต้องลดลง ปรับหลักสูตรให้มีหลายศาสตร์ร่วมกัน คนเรียนปริญญาตรีต้องเรียนข้ามสาขากันได้อย่างไม่มีขอบเขต ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการปรับแล้ว มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศเลยว่า อีก 6-9 ปีข้างหน้าจะยกเลิกคณะทั้งหมด ให้เด็กสามารถเลือกได้ว่า อยากจะเรียนอะไร เช่น นิติศาสตร์ ก็สามารถเลือกไปเรียน ด้านบริหาร ประวัติศาสตร์หรือภาษาต่างประเทศได้ เพียงแต่เรียนให้ครบหน่วยกิตตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ปัจจุบันการเรียนรู้เพียงศาสตร์เดียวอาจไม่สามารถทำงานได้ดีในอนาคต บริษัทเอกชนต้องการคนที่ความรู้รอบด้าน และถ้าอยากรู้แบบลงลึกก็ให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอก แนวโน้มการจัดการศึกษา ต้องปรับมาเป็นลักษณะนี้มหาวิทยาลัยสามารถทำได้เลย ออกระเบียบเองได้ ผมอยากให้มหาวิทยาลัยไปพิจารณาเริ่มทำ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ทันโลก เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมจะให้นโยบาย เป็นเรื่องสำคัญว่า เราเองต้องปรับ เพราะการรู้เพียงศาสตร์เดียวทำงานไม่ได้ หากมหาวิทยาลัยไหนพร้อมสามารถทำได้ทันที ใครเริ่มช้าจะตกขบวน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย

รวมถึงต้องมีการสร้างคนเพื่อรองรับโลกในอนาคต เช่น การขนส่งระบบราง ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลแต่เรายังไม่มีคน มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ทำตามนโยบาย เตรียมคนให้กับประเทศ โดยผมจะเจรจากับสำนักงบประมาณ ว่าต่อไปการจัดสรรงบประมาณจะดูว่า แต่ละแห่งทำตามนโยบายหรือไม่ ถ้าไม่ทำ มหาวิทยาลัยก็ต้องหาเงินเอง ผมไม่ให้เงิน ไม่อย่างนั้นมหาวิทยาลัยก็ไม่ปรับ เป็นเสือนอนกิน แต่ไม่เคยสนับสนุนประเทศ มหาวิทยาลัยต้องมองไปข้างหน้าผลิตคนอย่างมีเป้าหมาย โดยยึดเป้าหมายของประเทศเป็นหลัก

๐หลักสูตรที่ควรเน้นให้ทันโลก ตอบสนองประเทศ
ประเทศเราต้องเน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม แต่กว่า 60-70% ของนักศึกษาทั้งหมดเป็นสายสังคม เพราะเข้าง่าย เรียนง่าย จบง่าย มหาวิทยาลัยเองก็สอนง่าย แต่ไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศ เรียนจบมาก็ตกงาน อีกอย่างที่ต้องปรับคือ ทัศนคติของประชาชน และผู้ปกครอง ที่คิดว่าลูกต้องเรียนมหาวิทยาลัยทุกคน ทั้งที่เด็กอาจจะไม่ถนัดที่เรียนทางวิชาการ โดยตอนนี้อาชีวศึกษาถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ อีกทั้งเงินเดือนของผู้ที่จบอาชีวศึกษาตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากเด็กที่จบระดับปริญญาตรี เพียงแต่เราไปคิดว่า ศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน ดังนั้น ผมเองจะเข้าไปดูความเชื่อมโยงระหว่างอาชีวศึกษากับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน กว่า 50% จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ให้มีช่องทางพิเศษให้เขาสามารถต่อปริญญาตรีได้

อีกส่วนที่มหาวิทยาลัยไม่ได้คิดเลยคือ การจัดการศึกษาให้ผู้สูงอายุ จากตัวเลขพบว่าปี 2567 จะมีคนอายุ 60 ปี กว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปี 2573 จะเพิ่มเป็น 25% ของประเทศ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด เราต้องพัฒนาให้เขาทำงานได้ มีอาชีพทำ มหาวิทยาลัยจะต้องคิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ ให้มาเรียนและทำงานได้อย่างมีศักยภาพ

๐นโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
นโยบายที่พูดมานำไปปรับใช้กับทุกแห่ง แต่ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีทิศทางที่ชัดเจน สร้างคุณค่าจุดเด่น ให้สังคมยอมรับ ทั้งนี้ เมื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ยิ่งชัดเจนว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถเติบโตตามศักยภาพ ตามความถนัด เช่น มรภ. ต้องมีบทบาทในพัฒนาชุมชน สังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรากเหง้าของ มรภ.มาจากการผลิต ครู แต่ปัญหาตอนนี้คือขาดครูที่มีคุณภาพ และครูสำคัญที่สุด เพราะครูสร้างเด็ก เพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น มรภ.ต้องประกาศตัวว่า ผลิตครูที่ดีที่สุด ดีกว่า จุฬาฯต้องดึงตรงนี้กลับมาให้ได้ หากทำตามบทบาทได้แล้ว ต่อไปจะพัฒนาไปมากกว่านี้ผมก็ไม่ได้ว่า ส่วนมหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่า 27 แห่ง เป้าหมายมีอยู่แล้ว ว่าต้องพัฒนาสู่การแข่งขันกับนานาชาติ

๐ยังเดินหน้าเรื่องจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา
ต้องตั้งแน่นอน เรามีความจำเป็น และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม่ผมถึงต้องมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เราต้องมองไปข้างหน้า การเกิดกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้มาเพื่อควบคุมมหาวิทยาลัย เราออกแบบให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เล็ก มีหน้าที่หลักในการประสานงาน ส่งเสริมสนับสนุน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติกับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน กระทรวงอื่นๆ

๐การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย
เป็นเรื่องใหญ่ แต่แก้ไม่ได้ด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องของจิตสำนึก ต้องสร้างตั้งแต่เด็ก สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาต้องทำเรื่องนี้ด้วย ผมมองประเทศเป็นหลัก อนาคตประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษา ดังนั้น ถ้าการศึกษาไม่เข้มแข็ง เราจะไม่มีทางไปแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ดังนั้น เมื่อผมได้รับโอกาส นายกฯให้มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ผมไม่ลังเลเลยแม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากแต่ผมคิดว่า ต้องเริ่มต้นที่จะมีความเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้ จะสำเร็จหรือไม่ เมื่อไรตอบไม่ได้ แต่คิดว่าเรื่องนี้เป็นอนาคตของชาติ หากอยากให้ประเทศเจริญทัดเทียมกับประเทศอื่น การศึกษาจะเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ผมจะทุ่มเททำเต็มที เข้ามาตรงนี้รู้ว่าเหนื่อยและยาก แต่เราต้องเริ่มทำ ต้องปฏิรูปทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา แต่ก็ไม่รู้ว่าจำสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะเวลามีจำกัด จะพยายามเริ่มทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image