ทปสท.ปลุกอาจารย์ทั่วประเทศ ร่วมประชุม 22 ธ.ค.ชงข้อมูลนายกฯ เรียกร้องขึ้นเงินเดือน 8% เท่ากับครู

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา และประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 8.30 น.เป็นต้นไป ทปสท.จะจัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญของอาจารย์มหาวิทยาลัย” ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)พระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ซึ่งขอเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นข้าราชการ จากทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการและมหาวิทยาลัยในกำกับ จำนวน 78 สถาบันเข้าร่วม ทั้งนี้จะเป็นการระดมความคิดเห็นและรวมพลังครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอัตราเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต่ำกว่าข้าราชการครูอยู่ร้อยละ 8 มาตั้งแต่ปี 2554

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ให้มีการปรับเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 8 แก่ข้าราชการครูสายผู้สอน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สายวิชาการ ซึ่งเป็นผู้สอนเช่นเดียวกัน กลับไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน ทั้งที่มีลักษณะงานที่ปฏิบัติเหมือนกัน ส่งผลให้ข้าราชการครูที่สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา มีเงินเดือนสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งที่สอนในระดับปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งพวกตนได้ออกมาเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด จนกระทั่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 อนุมัติให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนและเยียวยาร้อยละ 8 ให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ จำนวน 66 สถาบันสังกัดมหาวิทยาลัยในกำกับ จำนวน 12 สถาบัน รวมทั้งสิ้น 19,696 คน ใช้งบประมาณ 740,000,000 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้ทำหนังสือเสนอผ่านพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในขณะนั้น และนำเสนอไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลศธ. ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็เห็นชอบ แต่พอเรื่องจะเข้าครม.กับติดปัญหาตรงที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ได้ขอจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งครม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ได้กำหนดแนวทางการเสนอเรื่องงบประมาณต่อครม.ซึ่งต้องเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมก่อนนำเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบ ดังนั้นเรื่องจึงถูกตีกลับมาที่สกอ. เพื่อส่งเรื่องไปขอความเห็นจากสำนักงบประมาณก่อน สำนักงบประมาณใช้เวลาพิจารณาอยู่หลายเดือน ก็มีหนังสือตอบกลับไปที่รัฐมนตรีว่าการศธ. สรุปความว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สายวิชาการ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นการปรับปรุงระบบค่าตอบแทนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนของข้าราชการต่างประเภทกัน” จึงเห็นควรให้นำเสนอเรื่องผ่านคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาเพื่อให้การดำเนินการเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกันทั้งระบบในภาพรวม “ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว” สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงทำหนังสือที่ ศธ0509(4)/12305 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ไปยังคณะกรรมการดังกล่าว หลังจากนั้นพวกตนได้ติดตามไปยังนายวิษณุและเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ หลายครั้ง เพื่อเร่งรัดขอให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม จนกระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เลขาธิการ ก.พ.ได้มีหนังสือตอบกลับไปที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แจ้งว่าคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีมติให้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการดำเนินการของสกอ.ในสองประเด็นคือ 1. การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจต้องพิจารณาให้ครอบคลุมถึงข้าราชการประเภทอื่นด้วย 2.การดำเนินการปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากจะพิจารณาเรื่องงบประมาณแล้ว สกอ.ควรมีความชัดเจนว่า จะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด หรือจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับใดบ้าง

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ) จึงได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษากรณีดังกล่าว เป็นเวลาอีกหลายเดือน และได้นำเข้าสู่ที่ประชุม ก.พ.อ.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งภายหลังการประชุม น.พ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า ก.พ.อ. มีมติเสนอแก้กฎหมาย เพื่อเยียวยาให้ข้าราชการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปรับเพิ่มเงินเดือน 8% เช่นเดียวกับข้าราชการครูเพื่อความเป็นธรรม แต่พวกตนพิจารณาแล้วยังไม่เห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะดำเนินการอย่างไร และเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะเรื่องนี้ล่วงเลยมาตั้งแต่ปี 2554 จวบจนถึงทุกวันนี้ก็ 7 ปีกว่า จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในไม่ช้า ดังนั้น จึงได้จัดประชุมเพื่อระดมพลังและความคิดเห็นเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้กับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา(3) “ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบอาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู” ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าครูและอาจารย์เป็นวิชาชีพเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือนระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกับครูโดยเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image