ยูนิเซฟเปิดรายงานเด็กในโลกดิจิทัล ดึงรัฐบาล-เอกชน-องค์กร ช่วยเด็กเข้าถึงออนไลน์อย่างปลอดภัย

 

จากรายงานสภาวะเด็กโลก 2560: เด็กในโลกดิจิทัล (The State of the World’s Children 2017: Children in a digital world) รายงานประจำปีฉบับพิเศษของยูนิเซฟ ที่ได้นำเสนอมุมมองอย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรกถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อชีวิต และโอกาสของเด็กในลักษณะต่างๆ ทั้งในแง่อันตราย และโอกาสที่ได้รับ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล และภาคเอกชนของแต่ละประเทศไม่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เด็กต้องเผชิญกับความเสี่ยง และอันตรายรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้ง ยังทอดทิ้งเด็กขาดโอกาสหลายล้านคนไว้ข้างหลังนั้น

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเรา ในไทยนั้น เด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งประโยชน์ และโทษ เราต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด และปกป้องเด็กจากภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ เราต้องส่งเสริมให้เด็กๆ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟได้สำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,500 คนในไทยผ่านเครือข่ายยูรีพอร์ต พบว่า เด็กและเยาวชน 2 ใน 3 บอกว่าพวกเขาเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง หรือไม่ก็เรียนรู้จากเพื่อนหรือพี่น้อง มีเพียง 7% ของเยาวชนเท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาเรียนรู้จากพ่อแม่ผู้ปกครอง

รายงานสภาวะเด็กโลกยังระบุอีกว่า ประโยชน์ที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีต่อเด็กที่ขาดโอกาส และเด็กที่เติบโตท่ามกลางความแร้นแค้น หรือได้รับผลกระทบในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเสริมสร้างทักษะการทำงานในสถานที่ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้ง การให้พื้นที่ในการเชื่อมต่อ และสื่อสารความคิดเห็นของเด็กเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม รายงานแสดงให้เห็นว่าเด็กหลายล้านคนถูกละเลย โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเยาวชนทั่วโลก หรือ 346 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงยิ่งขึ้น และลดทอนความสามารถของเด็กในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต, อินเตอร์เน็ตเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยต่างๆ ให้กับเด็กได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ในทางที่ผิด การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตราย และการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ นอกจากนี้ ความแพร่หลายของอุปกรณ์มือถือทำให้เด็กจำนวนมากเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างไร้การควบคุมดูแล และอาจเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น โดยระบุว่าเครือข่ายดิจิทัลทั้งหลาย เช่น ดาร์คเว็บ และคริปโตเคอเรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการแสวงประโยชน์ และการข่มเหงในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแบบ “ให้บริการตามสั่ง” ทางออนไลน์

Advertisement

รายงานยังแสดงให้เห็นข้อมูลปัจจุบันพร้อมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็ก ตลอดจนผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก โดยสำรวจถึงประเด็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับการ “เสพติด” ดิจิทัล และผลที่อาจเกิดขึ้นของเวลาที่ใช้บนหน้าจอต่อพัฒนาการทางสมอง มีดังนี้ คนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มวัยที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมากที่สุด โดย 71% ทั่วโลกเข้าถึงโลกออนไลน์ เปรียบเทียบกับ 48% ของประชากรทั้งหมด, เยาวชนชาวแอฟริกาเชื่อมต่อน้อยที่สุด ประมาณ 3 ใน 5 คนเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ เปรียบเทียบกับเพียง 1 ใน 25 คนในยุโรป, ประมาณ 56% ของเว็บไซต์ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหาเนื้อหาที่พวกเขาเข้าใจได้ หรือมีความเกี่ยวข้องกับพวกเขาในเชิงวัฒนธรรม และมากกว่า 9 ใน 10 ของเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กซึ่งถูกค้นพบทั่วโลก มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ หนทางเดียวที่จะทำให้เด็กมีความเท่าเทียมทางดิจิทัล ตลอดจนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น คือการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรเพื่อเด็ก ชุมชนในแวดวงการศึกษา ครอบครัว และตัวเด็กเอง โดยระบุข้อเสนอแนะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการกำหนดนโยบาย และเพิ่มความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจเพื่อยังประโยชน์ให้แก่เด็ก ดังนี้ ช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพง คุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เช่น การล่วงละเมิด การแสวงประโยชน์ การค้ามนุษย์ การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ และการเปิดรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ปกป้องความเป็นส่วนตัวและอัตลักษณ์ของเด็กบนโลกออนไลน์ สอนทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล เพื่อให้เด็กได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วม และมีความปลอดภัยในการใช้งานอินเตอร์เน็ต เพิ่มบทบาทให้แก่ภาคเอกชนในการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมและการปฏิบัติที่ปกป้องและเป็นประโยชน์ต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต และกำหนดนโยบายดิจิทัลโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง

“ในไทย ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับรัฐบาล และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ โดยช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังร่วมมือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จัดทำคู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์ เพื่อให้พ่อแม่ให้คำแนะนำแก่ลูกในการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย” นายโธมัส กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image