คือ..อนาคต

ประวัติศาสตร์ คือ อนาคต

เป็นแนวคิดของสำนักพิมพ์มติชนที่ผลิตหนังสือออกมาเสนอในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44

ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม ถึงวันที่ 10 เมษายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เหมือนเดิม

งานนี้ก็คงเหมือนกับงานก่อนตรงที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ต่างขนหนังสือมาอวดโฉมมากมาย

Advertisement

แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่คาดว่าคนไทยยังใฝ่หาความรู้ จึงมั่นใจว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ก็คงแน่นเหมือนเก่า

ยิ่งบูธสำนักพิมพ์มติชนที่มากับแนวคิด “ประวัติศาสตร์คืออนาคต” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องหันไปโฟกัสดูว่ามีหนังสืออะไร

แล้วก็เห็นเล่มหนึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ชื่อ “นาคยุดครุฑ” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์

หนังสือเล่มนี้ศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชนนำเสนอ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ลาว แต่เป็นประวัติศาสตร์ลาวเชิงวิเคราะห์

ภายในเล่มเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยสมัยเป็นอาณาจักรที่ไปมีส่วนสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านช้าง เปิดเรื่องเล่าประวัติเจ้าฟ้างุ้มหรือที่ชาวลาวเรียกว่าเจ้าฟ้างุ่ม

มีบทวิเคราะห์ประวัติเจ้าฟ้างุ่มจากนักประวัติศาสตร์หลายคน

มีมุมมองเพิ่มเติมในมิติหลากหลายที่บันทึกไว้น่าอ่าน พร้อมทั้งค้นพบความแตกต่างในการบันทึก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ตอนที่เจ้าฟ้างุ่มขึ้นเป็นกษัตริย์

เจ้าฟ้างุ่มเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง มีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบาง เป็นการสถาปนาขึ้นในระยะเวลาเดียวกับยุคต้นศรีอยุธยา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่มีส่วนอย่างยิ่งในการถ่วงดุล 3 อาณาจักร ไทย ลาว และพม่า

แม้ประวัติของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่เคยรับทราบจะออกมาในเชิงบู๊ คือ เป็นวีรบุรุษนักรบ

โดยเฉพาะบทบาทในการรบกับพม่าช่วงบุเรงนอง กษัตริย์พม่าที่กำลังเรืองอำนาจอยู่นั้น ปรากฏว่าล้านช้างสามารถกำชัยเหนือกองทัพหงสาวดี

กลายเป็นตำนานเล่าขานความเกรียงไกรของพระองค์ แต่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมิได้ปรีชาสามารถเฉพาะการรบ

พระองค์ยังมีความโดดเด่นในเชิงบุ๋นด้วย พระองค์ทรงเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างเจดีย์ หล่อพระ สร้างวัด

ในด้านการปกครองได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางซึ่งอยู่ใกล้อาณาจักรล้านนา ใกล้พม่า มาอยู่ที่เวียงจันทน์แทน

ส่วนด้านการทูตสามารถใช้เจดีย์ผูกใจผูกสัมพันธ์กับสยามประเทศได้อย่างน่าประทับใจ

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าไปถึงพระเจ้าอนุวงศ์ ตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

มีการกล่าวถึงเหตุผลการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 3 นิดๆ และบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวในรัชกาลต่อๆ มา

อาทิ การส่งทหารไปปราบปรามจีนฮ่อ เป็นต้น

อ่านแล้วชอบหนังสือเล่มนี้ตรงที่นำประวัติศาสตร์มาเล่าด้วยมุมมองใหม่ เป็นมุมมองเชิงวิเคราะห์ มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลากหลายมาประกอบ แต่ไม่ซับซ้อนจนยากจะเข้าใจ

อ่านแล้วได้ความรู้ ได้ความคิด แล้วยังรับเอามุมมองที่น่าสนใจมาไว้พิจารณา

ความรู้จากประวัติศาสตร์ ความคิดจากการอ่าน และมุมมองจากผู้เขียนล้วนมีความสำคัญ

สำคัญต่อการคิดการทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน หากสามารถทำปัจจุบันได้ดีแล้ว ความสำเร็จย่อมรออยู่ในอนาคต

ดังนั้นหาอ่านหนังสือที่บันทึกเหตุการณ์ในอดีต ย่อมช่วยให้เรามีข้อมูลตัดสินใจในปัจจุบัน

และการตัดสินใจที่ถูกต้องก็จะส่งผลดีต่ออนาคต

แหม…ไอเดียสำนักพิมพ์มติชนนี้ดีแฮะ

และนอกจาก หนังสือเรื่อง “นาคยุดครุฑ” แล้วยังมีหนังสือประวัติศาสตร์อื่นๆ ให้อ่านอีกหลายเล่ม

ไวมาร์

อาทิ การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6 หรือประวัติต้นรัชกาลที่ 6

หรืออยากเก็บเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนก็ต้องเล่มนี้ …บันทึกประเทศไทยปี 2558

หนังสือบันทึกประเทศไทย เป็นหนังสือที่มติชนทำมาหลายปี แต่ละปีได้เก็บเหตุการณ์สำคัญในห้วงเวลาสำคัญของประเทศ

ถ้าใครสนใจจะเก็บรวบรวมไว้ให้ครบทุกเล่มก็จะทำได้ และเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการค้นคว้าได้ไม่ใช่น้อย

ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ในประเทศเท่านั้นที่สำนักพิมพ์มติชนให้ความสำคัญ

ประวัติศาสตร์ต่างประเทศอย่าง หนังสือชื่อ “ไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ก็มีวางจำหน่าย

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ภาณุ ตรัยเวช

เล่าเรื่องเยอรมนีในยุค “ไวมาร์” ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดจนไปถึงยุคของฮิตเลอร์

อ่านสนุก เข้าใจง่าย มีสาระสำคัญที่รวบรวมมาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการตอบคำถามเรื่องอำนาจที่ฮิตเลอร์ได้มา

ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ผ่านการคัดสรร แต่ละเล่มนำเสนอข้อมูลที่มีบันทึกไว้ และข้อมูลที่น่าบันทึก

บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่รอวันเวลาให้คนอ่าน และเลือกข้อมูลไปใช้ ใช้ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ตามความปรารถนาของสำนักพิมพ์มติชนที่นำเสนอ

อย่าลืมนะครับ ใครอยากทราบเรื่องราวดีๆ มุมมองใหม่ๆ ในประวัติศาสตร์

ใครอยากศึกษาเรื่องราวในอดีตเพื่อนำมาใช้ในปัจจุบันและช่วยให้ส่งผลดีในอนาคต

อย่าลืมแวะชมหนังสือได้ที่บูธมติชน ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคมถึง 10 เมษายนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image