หมอจุฬาฯ คว้ารางวัลนิวตันคนแรกของไทย ผลงาน ‘ศึกษากลุ่มโรคหายากแต่พบบ่อยในเด็ก’

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลนิวตัน (Newton Prize) ประจำปี 2560 ชิงเงินรางวัลมูลค่า 200,000 ปอนด์ ประมาณ 8.6 ล้านบาท เพื่อมอบให้แก่โครงการที่ได้รับ หรือเคยได้รับทุนนิวตัน ซึ่งดำเนินงานยอดเยี่ยมในด้านการวิจัย และ/หรือนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสวัสดิภาพสังคมของประเทศที่ร่วมทุน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โดยมีนายมาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ รับผิดชอบกิจการเอเชียแปซิฟิก และนายไบรอัน เดวิดสัน อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มอบโล่รางวัล และประกาศนียบัตรให้แก่คณะวิจัยไทย สำหรับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สังกัดศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษากลุ่มโรคหายากแต่พบบ่อยในเด็ก ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

ศ.นพ.วรศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคหายากในเด็กมีประมาณร้อยละ 8 ของประชากรไทยทั้งหมด นั่นคือมากกว่า 5 ล้านคน แต่แพทย์ยังมีประสบการณ์ในการวินิจฉัย และรักษาน้อย บางโรคต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงขึ้น จนเด็กจำนวนมากเสียชีวิต หรือพิการ ดังนั้น จึงต้องหาทางวินิจฉัยโรคให้เร็ว และทันเวลามากที่สุดเพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคหายากจะมีอาการของโรคที่หลากหลาย เช่น เลือดเป็นกรด หรือด่าง ซึมลง พัฒนาการช้า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน ปากแหว่ง ไม่มีแขนขา เป็นต้น ซึ่งคณะวิจัยได้ร่วมกับเครือข่ายของประเทศอังกฤษพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี เพื่อวินิจฉัยโรคจากเลือดของผู้ป่วย หาลำดับสารพันธุกรรม โปรแกรมการวิเคราะห์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ทราบว่าเป็นโรคใด รวมถึง สร้างทีมสร้างคนอย่างรวดเร็ว วางระบบ และเครือข่ายตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศในการส่งตัวผู้ป่วย หรือเลือดมาวินิจฉัยโรค เมื่อทราบว่าเป็นโรคใดก็จะค้นหากลไกลการเกิดโรค และวิธีการรักษาโรคที่ตรงกับสาเหตุต่อไป

“เรายอมรับว่าหลายครั้งไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ เพียงแต่ทราบว่าป่วยเป็นโรคใด เพราะเป็นโรคที่หายากมาก บางโรคไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจ และค้นพบหลักการการเกิดโรคใหม่ๆ และในภาพรวมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศ นอกจากจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังเป็นงานที่ลงไปถึงรากของปัญหา ไม่ใช่แค่เยียวยาอย่างเดียว การดูแลรักษาผู้ป่วยต้องได้มาตรฐานโลก และสร้างมาตรฐานที่ดีที่สุด” ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังมีรางวัลพิเศษจากประธานกรรมการตัดสิน “Chairperson Award” มอบแก่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา หัวหน้าห้องปฏิบัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกุ้งและเชื้อก่อโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับผลงานการจัดตั้ง “เครือข่ายวิจัยเพื่อสุขภาพกุ้ง” (INSH: International Networks for Shrimp Health) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก Newton Institutional Links และ Researcher Links ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สกว.และบริติชเคาน์ซิล และรางวัลรองชนะเลิศอีก 3 รางวัล ได้แก่ 1.การศึกษากระบวนการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้รากสาดไรอ่อนในคน : งานวิจัยพื้นฐานด้วยเทคนิคเชิงระบบสู่การค้นหาวิธีรักษาโรคอย่างแม่นยำ โดย ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 2.พันธุ์ข้าวที่ทนกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ 3.การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีจีโนม โดย ผศ.ดร.ประพัฒน์ สุริยผล หน่วยชีวสารสนเทศและจัดการข้อมูลวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มม.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image