ทางรอด..ทางเลือก สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาในระดับ “อุดมศึกษา” ถือได้ว่าเป็นที่หมายปองของคนหนุ่มสาว

จากความสนใจที่มากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มตามมาเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สถาบันที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการแสวงหาองค์ความรู้ของผู้คนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ แต่วันนี้กลับมีสถาบันของเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

Advertisement

ในอดีตสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะต้องเป็นสถาบันที่มีชื่อ และมีความพร้อมในมิติต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้เรียน แต่เมื่อกระแสสังคมเปลี่ยนค่านิยม ประกอบกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐรับนักศึกษาได้ในจำนวนจำกัด สถาบันของเอกชนก็เกิดเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกสถาบันพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่น และความน่าสนใจในการที่จะทำให้สังคมยอมรับ

“มหาวิทยาลัยเอกชน” มีพันธกิจในการบริหารจัดการตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งทุกสถาบันจะมีบทบาทหน้าที่จัดการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจมีบางสถาบันที่จะเสริมเติมเต็มในหลากหลายของพันธกิจเพื่อให้แสดงเห็นซึ่งศักยภาพ

วันนี้โลกเข้าสู่การแข่งขัน และแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของแต่ละภูมิสังคม ประเทศไทยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกระดับโดยเฉพาะอุดมศึกษา

Advertisement

แต่ในทางตรงกันข้าม วันนี้สถาบันอุดมศึกษาไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชน ต่างประสบปัญหาของจำนวนผู้เรียนที่ลดลง และทำท่าว่าจะลดลงเรื่อยๆ การที่จำนวนของผู้เรียนลดลงทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชน ต่างดิ้นรนที่ดึงดูดให้นักเรียน หรือผู้สนใจเข้าศึกษาได้หันไปสู่สถาบันของตนเองกันให้มากๆ

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีความได้เปรียบสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่หลายมิติ ยิ่งจำนวนผู้เรียนลด มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ค่อยประสบปัญหาในด้านงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน จำเป็นที่ต้องออกแรงมาก และหนักยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะงบประมาณในการบริหารจัดการมาจากความรับผิดชอบของตนเองทั้งสิ้น รวมทั้ง ปัจจัยอื่นๆ

ดังนั้น จากนี้ไปมหาวิทยาลัยเอกชนจะเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาของไทยที่ประสบกับปัญหารอบด้าน ซึ่งพอจะแยกเป็นข้อสังเขปได้ดังนี้

ประการแรก งบประมาณที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องบริหารจัดการในด้านของแหล่งเงินทุน ซึ่งหากมหาวิทยาลัยมีจำนวนนักศึกษามาก จำนวนดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการที่ก่อให้เกิดรายได้ในแต่ละปี มหาวิทยาลัยเอกชนที่จัดการการศึกษาเต็มรูปแบบตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับบัณฑิตศึกษา จำเป็นต้องมีบุคลากรทั้งสายวิชาการ และสายสนับสนุนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนักวิชาการ และคณาจารย์ชั้นนำมีชื่อเสียง ก็ย่อมจะต้องได้รับงบประมาณเป็นจำนวนมาก ระยะหลังบางสถาบันต้องปรับลดจำนวนบุคลากรลงเพื่อให้เลี้ยงตนเองได้

ประการที่สอง ชื่อเสียง และเกียรติประวัติ สถาบันใดที่มีชื่อเสียง มีเกียรติประวัติ ได้รับการยอมรับมายาวนาน ย่อมเป็นที่ศรัทธาของสังคม หลายมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเก่าแก่ มีอายุมากกว่า 30 ปี ไม่ค่อยประสบปัญหาด้านจำนวนผู้เรียนมากนัก

ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำ จากกระแสของจำนวนผู้เรียนลดลง ส่งผลต่อมหาวิทยาลัยเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีเหตุดังกล่าว จึงเกิดกระแสในหมู่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชนว่าอุดมศึกษาไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ

สาระสำคัญของความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมของมหาวิทยาลัยของรัฐกับเอกชน เป็นผลสืบเนื่องมาจากครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เปิดเผยว่า “กรณีที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มีอาจารย์ และพนักงานเกษียณอายุ และสมัครเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนดประมาณ 120 คน เนื่องจากนักศึกษาลดลง รวมทั้ง สกอ.ปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานของอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนมีมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งทยอยปรับลดบุคลากรจำนวนมาก เนื่องจากทิศทางการพัฒนาประเทศมีความเปลี่ยนแปลง และจำนวนนักศึกษาลดลง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่ามหาวิทยาลัยเอกชนใดปรับลดจำนวนบุคลากรลงบ้าง แต่ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษา หรืองบวิจัยที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0

ในประเด็นนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังกล่าวให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดเจนต่อไปว่า “ทั้งที่มหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีอยู่กว่า 70 แห่ง มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และรับภาระการผลิตบัณฑิตถึง 20% แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพในการจัดการศึกษาหาจุดขายให้กับตัวเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่คงไม่มีปัญหาเพราะค่อนข้างมีศักยภาพ แต่สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ จะทยอยปิดตัวลงอีกเท่าไหร่”

พร้อมกันนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังกล่าวในทำนองที่ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน ที่กำลังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำตอนหนึ่งว่า

“ยอมรับว่าถ้าเปรียบเป็นเรื่องธุรกิจ ก็เหมือนกับเอกชนแข่งขันกันจัดการศึกษา แต่ทุกวันนี้เอกชนเสียเปรียบเพราะรัฐไม่สนับสนุน เหมือนอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยรัฐเปิดรับหลายรอบ จำนวนเด็กที่ลดลง ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับตัวแข่งขันกันในเชิงคุณภาพให้มากขึ้น หากใครสายป่านไม่ยาวพอก็ต้องทยอยปิดตัวไป ทุกวันนี้เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเหมือนลูกเมียน้อย แค่เราขอสนับสนุนงบสนับสนุนเรื่องห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้นักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานของคนไทยเช่นเดียวกัน ยังไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งที่งบก็ไม่มากปีละไม่เกิน 100 ล้านบาท หากเทียบกับงบรัฐที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยรัฐ ถือว่าน้อยมาก และเป็นงบที่คุ้มค่า” (มติชน, 23 สิงหาคม 2559 หน้า 17)

ประการที่สี่ ค่านิยม สังคมไทยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา มักจะมีความเชื่อ หรือค่านิยมที่ดีต่อมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่าเอกชน ทั้งนี้ เพราะความเชื่อ หรือค่านิยมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผลผลิต ตลอดจนชื่อเสียง และการยอมรับ วันนี้ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนค่านิยมของผู้เรียน และผู้ปกครองจะเปลี่ยนไป ประกอบกับมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการจนได้รับการยอมรับ แต่ค่านิยมที่มีต่อมหาวิทยาลัยของรัฐยังมั่นคง และยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ประการที่ห้า ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียม วันนี้จะพบว่าหากมองให้ลึกลงไประหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐกับเอกชน จะมีความแตกต่างกันมากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าจะมองในแง่ของศักดิ์ศรี และความเท่าเทียม จะพบว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่า อาทิ การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยโดยมีประธานที่ประชุมอธิการบดีของรัฐ จะแบ่งกลุ่มเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเดิม

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น ซึ่งหากมองในการรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ จะพบว่าปัญหาที่แต่ละกลุ่มพบมักมีความแตกต่างกัน แต่ด้วยองค์กรของรัฐซึ่งถือว่ามีต้นทุน และเสียงดังเมื่อภาครัฐหนุนหลัง

แต่ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน และร่วมบริหารจัดการ สิ่งที่พบให้เห็นในเชิงประจักษ์ในเรื่องศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน คือไม่เคยมีรัฐมนตรีในกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในการเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ก้าวไกลทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ

ประการที่หก คุณภาพบัณฑิต สังคมโดยรวมมักจะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยของรัฐมากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน มีการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว การที่พัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ภายใต้ความเห็นชอบของ สกอ.

ข้อค้นพบที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยเอกชนพัฒนาการบริหารจัดการจนส่งผลต่อการพัฒนาประเทศภายใต้บริบทของมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำระดับสากล เช่น คุณภาพ และความพร้อมของบุคลากร อาคารสถานที่ สื่อ และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ล้วนแล้วแต่เหมาะกับการพัฒนาคนเข้าสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ในขณะเดียวกันจากการรายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยองค์กรระดับโลกในปี 2016 ของWeb ometrics Ranking of world University พบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนของไทยติดอันดับของมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำระดับสากลจำนวนมากไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทิศทางอนาคตของมหาวิทยาลัยเอกชนในปี 2561 และต่อไปในอนาคต จะได้มีการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพเท่าเทียมมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสในยุคของการแข่งขัน อาทิ

ประการแรก การบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเอกชนจะมีความได้เปรียบมหาวิทยาลัยของรัฐในแง่ของความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การที่จะทำให้สังคมยอมรับปัจจัยที่สำคัญคือ วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ของผู้บริหาร ในการที่จะกำหนดทิศทางอนาคต กระบวนทัศน์ที่สำคัญอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จ ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วม และทีมงานที่เข้มแข็ง โดยผนึกพลังคนรุ่นเก่าที่มีองค์ความรู้ และประสบการณ์ ผสมผสานกับคนรุ่นใหม่ พร้อมกันนั้น การกำหนดทิศทาง และเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ทั้งนั้น สภามหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทิศทางอนาคตของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

ประการที่สอง คุณภาพ มหาวิทยาลัยเอกชนต้องตีโจทย์ให้แตกว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยส่วนใดบ้าง เช่น ทีมงานผู้บริหาร/ คณบดี/ ศูนย์/ สำนัก/ คณาจารย์ บุคคลเหล่านี้พร้อมที่จะร่วมสร้างให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เพราะคุณภาพที่มหาวิทยาลัยต้องเร่ง ณ วันนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของบัณฑิตที่จบแล้วมีงานทำ สามารถนำองค์ความรู้ไปสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ต่อสังคม การประเมินจากตัวชี้วัดที่แสดงว่าบัณฑิตจบแล้วมีงานทำจำนวนมากน้อยแค่ไหน อาจจะไม่ใช่คุณภาพที่แท้จริงก็ได้ แต่มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรที่บัณฑิตของสถาบัน เป็นบัณฑิตที่ทรงคุณค่า มีความแตกต่าง และมีความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในศตวรรษใหม่ได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญ ต้องปลูกฝังให้บัณฑิตน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานของความพอเพียง

ประการที่สาม การสร้างจุดขาย โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งการแข่งขันบนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร วันนี้ใครมีข้อมูลข่าวสารมาก ย่อมเป็นผู้มีพลัง และมีอำนาจ มหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องใช้ช่องทางการสื่อสารบนโลกเทคโนโลยี หรือสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อสร้างจุดขายให้สังคมประจักษ์ในนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ที่เป็นจุดเด่น และเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ปัญหาที่พบหลายสถาบันมีผลงานมากมาย แต่ขาดการสื่อสารจึงทำให้กลายเป็นจุดอ่อนของตนเอง

ประการที่สี่ หลักสูตร ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคของการแข่งขัน มหาวิทยาลัยต้องระดมในการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ตอบโจทย์ตลาดแรงงานทั้งใน และต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันจะพบว่าในขณะนี้หลายมหาวาทยาลัยได้เดินหน้าในเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ขาดบุคลากร ตลอดจนนวัตกรรมในการขับเคลื่อน

ประการที่ห้า แผนการตลาดและการสื่อสาร โลกในยุคของการแข่งขันการสื่อสาร และการตลาด มีส่วนสำคัญต่อการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน แผนการตลาด และการโฆษณา เพื่อจะเชิญชวนนักเรียน ตลอดจนบุคคลทั่วไปเข้าศึกษาในสถาบัน สิ่งที่ควรคำนึงให้มากคือเรื่องจริยธรรม และความเป็นจริง ขณะนี้บางสถาบันใช้แผนการตลาดที่ล่อแหลมในลักษณะโฆษณาเกินจริง ลดแหลกแจกแถม สถาบันที่มีหน้าตักหนาย่อมไม่กระทบ แต่สถาบันขนาดเล็กคงดำเนินการในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ ฯลฯ

ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้มหาวิทยาลัยเอกชนอยู่รอด คือการที่ น.ส.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เสนอแนวคิดให้มีการแก้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2546 เพื่อให้ทันกับสภาพการณ์ปัจจุบัน หลังจากใช้มานานถึง 14 ปี

อย่างไรก็ตาม ทิศทางอนาคตสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะมีทางรอด ทางเลือกอย่างไร ในปี 2561 คงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ และการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ เพื่อให้เป็นทางเลือกของสังคมสำหรับการเข้าสู่โลกดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image