ทปอ.เผยคณะมาแรงปี61 ‘วิศวะโยธา’ รองรับเมกะโปรเจ็กต์ เทรนด์คณะยอดฮิต ‘อุตสาหกรรม-วิศวะ-ทันตะ-พยาบาล’ 

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เทรนด์การเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนในปี 2561 ผู้ปกครองยังมีอิทธิพลต่อการเลือกเรียนของนักเรียนค่อนข้างมาก โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมให้ลูกเลือกเรียนในคณะ/สาขาที่มีงานทำแน่นอนและที่สำคัญต้องเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี ดังนั้น สาขาด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะได้รับความนิยมค่อนข้างมากเพราะเงินเดือนสูงตามมาด้วยวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า ขณะเดียวกันสาขาที่จะโดดเด่นขึ้นมาจากปีที่ผ่านมา คือ วิศวกรรมโยธา เพราะประเทศไทยมีเมกะโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก ส่วนสาขาทางด้านแพทยศาสตร์ ยังมีความนิยมต่อเนื่อง แต่แนวโน้มจะหันมานิยมทันตแพทยศาสตร์ เพราะเป็นสาขาที่ขาดแคลน สำหรับพยาบาลศาสตร์ คิดว่า อยู่ตัวเพราะเป็นสาขายอดนิยมที่มีผู้เลือกสมัครเข้าเรียนมากอยู่แล้ว คาดว่าปีนี้ยังได้รับความนิยมเช่นเดิม เพราะจบแล้วมีงานทำ รายได้ดีและค่อนข้างมั่นคง

นายสุชัชวีย์ กล่าวต่อว่า สำหรับคณะ/สาขาด้านสังคมยอดนิยมน่าจะเป็นนิติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ ซึ่งกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า คนจะนิยมเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ลดลงจากปัจจัยความไม่มั่นคงในวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น จากข้อมูลพบว่า หลายมหาวิทยาลัยมีการปรับกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงมีการปรับหลักสูตรที่เน้นในเรื่องการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น แม้อนาคตคนจะอ่านหนังสือเป็นเล่มน้อยลง และเปลี่ยนมาอ่านหนังสือผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามหนังสือก็ยังคงต้องมีอยู่รวมถึงหนังสือพิมพ์ เพียงแต่ต้องปรับการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยมากขึ้น ดังนั้น นิเทศศาสตร์ยังคงป็นอีกสาขาหนึ่งที่คนนิยมเลือกเรียน ส่วนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เท่าที่ดูคิดว่า ความนิยมจะน้อยลง จากปัจจัยการมีงานทำ เพราะคนที่เรียนสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้การันตีว่าจบแล้วจะมีงานทำ เช่นเดียวกับพยาบาล เพราะยังต้องสอบแข่งขันกับผู้ที่จบในสาขาเดียวกันอีกจำนวนมาก

“ในช่วง 2-3 ปีจากนี้คิดว่าเด็กจะเลือกเรียนในคณะ/สาขาที่จบแล้วมีงานทำแน่นอน และต้องเป็นงานที่มีรายได้ดีมั่นคง ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ บางคณะ/สาขาที่ต้องมีความเข้มข้น อาจต้องลดจำนวนรับลงให้เหมาะสมเพื่อให้การเรียนการสอนเกิดคุณภาพอย่างแท้จริง ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยไทยต้องปฏิวัติหลักสูตร ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และปรับหลักสูตรให้มีความเป็นนานาชาติ ทั้งนี้อนาคตมหาวิทยาลัยเองถูกดกดันให้ลดจำนวนรับนักศึกษาลงอยู่แล้ว เพราะอัตราการเกิดลดลง จำนวนเด็กที่เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาจึงลดลงไปด้วย โดยมหาวิทยาลัยเอกชนจะได้รับผลกระทบก่อน มาถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก่อนมาถึงมหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ. ดังนั้นการปรับหลักสูตร และทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศจะเปิดอีกช่องทางหนึ่งในการรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในประเทศไทยได้มากขึ้น”นายสุชัชวีย์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image