เปิด “18” กลุ่มจังหวัด-สำนักงานศึกษาธิการภาค

จากกรณีที่มีคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาคเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา และการบริหารราชการของ ศธ.ในภูมิภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเอกภาพ และประสานเชื่อมโยง และบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดรับกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษา อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มีคําสั่ง ดังนี้ ให้ *”ยกเลิก”* ประกาศ ศธ.เรื่องจัดตั้งสํานักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สํานักงาน

ให้มี “สํานักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค” สังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ทําหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาค และจังหวัด ให้มี *”ศึกษาธิการภาค”* เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.โดยอาจมีรองศึกษาธิการภาคไม่เกิน 1 คน ให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่งตั้งศึกษาธิการภาค และรองศึกษาธิการภาคจากข้าราชการใน ศธ.ตามที่ปลัด ศธ.เสนอ

ในแต่ละจังหวัด ให้มี “สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด” สังกัด สป.ศธ.เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการบริหาร และการจัดการศึกษา การปฏิบัติราชการตามอํานาจหน้าที่ นโยบาย และยุทธศาสตร์ของส่วนราชการต่างๆ ที่มอบหมาย ให้มี “ศึกษาธิการจังหวัด” เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง โดยสํานักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของศึกษาธิการภาค โดยอาจให้มีรองศึกษาธิการจังหวัดไม่เกิน 1 คน ให้ปลัด ศธ.แต่งตั้งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัดจากข้าราชการใน ศธ.

ให้โอนอํานาจหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และอํานาจหน้าที่ของผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เฉพาะงานที่เกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปเป็นอํานาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด* ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากําลังของสํานักงานศึกษาธิการภาคที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศ ศธ.เรื่องจัดตั้งสํานักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สป.ศธ.ไปเป็นของสํานักงานศึกษาธิการภาค และระหว่างที่ยังไม่ได้จัดตั้งสํานักงานศึกษาธิการจังหวัด ให้ สพป.หรือ สพป.เขต 1 ในจังหวัดต่างๆ ทําหน้าที่เป็นสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดในจังหวัดนั้นๆ ไปพลางก่อน นั้น

Advertisement

ในส่วนของกลุ่มจังหวัด และที่ตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค เบื้องต้นคาดว่าจะแบ่งกลุ่มดังนี้

1.ภาคกลางตอนบน 1 ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี มี จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

2.ภาคกลางตอนบน 2 ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง มี จ.ลพบุรี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

3.ภาคกลางตอนกลาง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก และสมุทรปราการ มี จ.ฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

4.ภาคกลางตอนล่าง 1 ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี มี จ.นครปฐม เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

5.ภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มี จ.เพชรบุรี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

6.ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง มี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

7.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง มี จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

8.ภาคใต้ชายแดน ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตานี ยะลา และนราธิวาส มี จ.สงขลา เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

9.ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง และตราด มี จ.ชลบุรี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

10.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน * ได้แก่ หนองคาย เลย อุดรธานี และหนองบัวลำภู มี จ.อุดรธานี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

11.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร มี จ.สกลนคร เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

12.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ มี จ.ขอนแก่น เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

13.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี มี จ.อุบลราชธานี เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

14.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ มี จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

15.ภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน มี จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

16.ภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย และแพร่ มี จ.เชียงราย เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

17.ภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ มี จ.พิษณุโลก เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

18.ภาคเหนือตอนล่าง 2 ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี มี จ.กำแพงเพชร เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

สำนักงานศธภ.

สนง.ศธภ (2)

สนง.ศธภ (1)

สำนักงานศธภ.3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image