นักวิชาการวิเคราะห์โครงสร้างใหม่ ห่วง’ปลัดศธ.’อำนาจล้นฟ้า

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 ได้วิเคราะห์โครงสร้างระดับภูมิภาคใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของ ศธ.ในส่วนภูมิภาค ว่า หลังมีคำสั่ง คสช. มีครู ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โทรศัพท์มาพูดคุยหลายราย ถ้าให้วิเคราะห์จากที่พูดคุย จำแนกได้ดังนี้ 1.กลุ่มที่เคยถูกกระทำจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ อาทิ ต้องเสียเงินเสียทองในการแต่งตั้งโยกย้าย จะตีปี๊บดีใจกับการยุบ อ.ก.ค.ศ. 2.กลุ่มผู้ใหญ่ที่เคยมีบทบาทในการปฏิรูปเมื่อปี 2547 จะรู้สึกกลางๆ 3.กลุ่มผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะรู้สึกน้ำท่วมปาก ลึกๆ ไม่เห็นด้วยเพราะถูกทอนอำนาจ 4.กลุ่ม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แยกเป็น 2 ส่วน มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่เห็นด้วย และ 5.กลุ่มครู สัดส่วนของครูที่เห็นด้วยกับการยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มีสูงกว่ากลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา

“เรื่องยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เชื่อว่านายกฯ ไม่รู้เรื่อง แต่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใช้อำนาจของนายกฯ โดยคำแนะนำของปลัด ศธ. ถ้าจำกันได้ตั้งแต่ พล.อ.ดาว์พงษ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใช้คำว่าต้องบริหารแบบ “ซิงเกิลคอมมานด์” แต่การบริหารของ ศธ.นั้น ปลัด ศธ.ด้อยกว่าปลัดทุกกระทรวง ไม่อาจไปสั่งองค์กรหลักอีก 4 องค์กรได้ เนื่องจากระดับ (ซี) 11 เท่ากัน ถ้าจะว่าไป องค์กรที่ใหญ่สุดใน ศธ.คือ สพฐ.มีขุมทรัพย์บุคลากรและงบ ขณะที่การขับเคลื่อนงานการศึกษาจะต้องอาศัยบุคลากร บุคลากรส่วนใหญ่อยู่ใน สพฐ. ประกอบกับแนวคิดแบบทหารที่ต้องเป็นเอกภาพและสั่งการได้ แต่เนื่องจากการบริหารของ สพฐ.กระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ฯ ในรูปแบบองค์คณะบุคคล เพราะต้องการให้อิสระแก่เขตพื้นที่ฯ ตามที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้น เมื่อสั่งการไม่ได้ คุมไม่ได้ จึงไม่สามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาได้ นำมาสู่การใช้อำนาจมาตรา 44 ผ่านนายกฯ ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ และในส่วนของคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ โดนหางเลขไปด้วย ทั้งที่ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการเขตพื้นที่ฯ มีธรรมาภิบาล ไม่มีปัญหา” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของคำสั่ง คสช. อยู่ที่การแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการชุดใหญ่ มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน 2.คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ทำหน้าที่ช่วย กศจ. แต่มีข้อน่าสังเกตว่า 1.ทั้ง กศจ.และ อกศจ. ไม่มีการระบุวาระการดำรงตำแหน่ง ทั้งที่มีตัวแทนจากบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมการ อาทิ กศจ. มีกรรมการจากผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น 2 คน ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น 2 คน ซึ่งทั้ง 4 คน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ถ้าไม่ระบุวาระการดำรงตำแหน่ง จะทำให้คนนอกเหล่านั้น มีอิทธิพลเพราะสามารถอยู่ยาวจนเสียชีวิต จึงเกิดคำถามว่า ถ้าบุคคลเหล่านี้ทำผิด เช่น ไปรับเงินรับทอง ศธ.จะเอาคนกลุ่มนี้ออกได้อย่างไร เข้าใจว่าคงต้องมีระเบียบอะไรตามมา แต่เรื่องวาระเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเขียนไว้ในคำสั่ง คสช. ก็ไม่รู้ว่าลืมหรือเจตนาลืมหรือไม่ 2.น่าสังเกตว่าโครงสร้างของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ล้วนมาจากฝ่ายราชการ มีภาคเอกชนเป็นกรรมการอยู่บ้าง แต่ในสัดส่วนที่น้อยขัดกับหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม แถมในคำสั่ง คสช.ให้เหตุผลที่ใช้มาตรา 44 ว่าเพื่อ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดรับกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ และ 3.มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ศึกษาธิการภาค 18 ภาค ความจริงศึกษาธิการภาค ไม่ใช่คำใหม่ ในโครงสร้างปัจจุบันเรามีอยู่แล้วเรียกว่า ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 13 ภาค แต่โครงสร้างใหม่ให้ยุบสำนักงานศึกษาธิการภาค 13 ภาค และมาจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการการภาค 18 ภาค แทน นอกจากนี้ให้จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดซึ่งเป็นคำใหม่ที่ปัจจุบันในโครงสร้างยังไม่มีตำแหน่งนี้”

“คำสั่ง คสช. จะเห็นได้ว่าการวางตัวบุคคลถือเป็นขุมกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ปลัด ศธ.มีอำนาจล้นฟ้า เพราะตำแหน่งศึกษาธิการภาค 18 ภาคนั้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่งตั้งโดยคำแนะนำของปลัด ศธ. และตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด แต่งตั้งโดยปลัด ศธ. มีความสำคัญมากเพราะเป็นเลขานุการ อกศจ. ที่ทำหน้าที่ดูแลการบริหารงานบุคคล แทนผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ที่เดิมเป็นเลขานุการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ส่วนผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตามโครงสร้างใหม่ จะทำหน้าที่ด้านบริหารวิชาการและบริหารงานทั่วไป เข้าใจว่าจากนี้ ศธ.คงต้องออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศต่างๆ ในการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและการเข้าสู่ตำแหน่งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด อยากฝากปลัด ศธ.ในการสรรหาตำแหน่งเหล่านั้น ควรต้องมีหลักเกณฑ์ ขอให้วางหลักเกณฑ์และดำเนินการสรรหาที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่ามองแค่ว่าเอาคนในตำแหน่งเดิมมาลงตำแหน่งใหม่ แต่ขอให้คำนึงถึงความรู้ความสามารถและเป็นคนดี” นายอดิศรกล่าว

Advertisement

นายอดิศรกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคาดหวังว่าจากนี้รัฐบาลจะออกคำสั่งให้กระจายอำนาจและความรับผิดชอบแก่โรงเรียน ถ้าออกแค่คำสั่ง คสช.แค่นี้ โดยไม่มอบอำนาจและความรับผิดชอบให้แก่โรงเรียนด้วย ที่ทำมาทั้งหมดก็ล้มเหลว ไม่เกิดประโยชน์ ศธ.ควรกระจายอำนาจให้แก่โรงเรียน โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ให้เป็นนิติบุคคล ศธ.ทำหน้าที่แค่สนับสนุน ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กค่อยเข้าไปกำกับดูแล คำสั่ง คสช.เปรียบเหมือน พ.ร.บ. แต่ส่วนตัวมองว่าเพื่อให้เกิดการยอมรับการปฏิรูปในเชิงคุณภาพที่ไม่ว่ารัฐบาลใด ก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่ว่าพอมาแล้ว ก็ไปออกกฎหมายมายกเลิก ดังนั้น มองว่าจากนี้รัฐบาลชุดนี้คงจะแก้ไขร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกัน ส่วนที่หวั่นว่าเมื่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ แล้ว ทุกคนจะวิ่งเต้นเข้าหานั้น มองว่าก็เป็นประเด็นได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่าจะยอมให้เข้าหาหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image