ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน ไม่โดนถอนใบวิชาชีพ??

ภาพประกอบ

 

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับแวดวงวิชาชีพครู จากกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าตองท่าเนินสามัคคี อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรง และถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร หลังถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมชู้สาวกับเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.2 ของโรงเรียน ที่มีหลักฐานจากข้อความสนทนาแชตไลน์

และกรณีที่มีการกล่าวหาว่าครูสาวอัตราจ้างมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนชายอายุ 15 ปี ในโรงอาหารของโรงเรียน ที่ จ.นครศรีธรรมราช จนฝ่ายครูสาวได้ขอลาออก

ขณะที่ นางละออศรี ทิพย์แก้ว ผอ.โรงเรียนกีฬานครศรีธรรมราช ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่าได้เรียกประชุมผู้บริหารและครูอาจารย์ตรวจสอบที่มาของข่าว ยังไม่พบว่ามีหลักฐาน หรือพยานใดๆ ที่ระบุได้อย่างชัดเจน เชื่อว่าน่าจะเป็นพฤติการณ์ของนักเรียนวัยรุ่นเช่นปกติทั่วไปที่กำลังคึกคะนองแล้วทำให้เกิดการพูดต่อๆ กันอย่างสนุกปากมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง

และเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางมูลนิธิปวีณาเข้าไปช่วยนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร ที่ถูกครูฝ่ายปกครองข่มขืนภายในห้องปกครองโรงเรียนของโรงเรียน

ข้อเท็จจริงทั้ง 3 กรณี ผิดหรือถูกต้องว่ากันไปตามกระบวนการตรวจสอบของระบบราชการ รวมทั้งการดำเนินคดีของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปัญหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมาทุกยุคสมัยย้อนไปดูข้อมูลเก่าเกิดขึ้นแทบทุกปี

สถิติข้อมูลย้อนหลังของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าตั้งแต่ปี 2556-2560 มีนักเรียนถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ 53 ราย น่าสนใจว่าเฉพาะปี 2556 มีมากถึง 21 ราย ปี 2557 มี 7 ราย ปี 2558 มี 5 ราย ปี 2559 มี 12 ราย และปี 2560 มี 8 ราย

ส่วนตัวเลขปีนี้ผ่านมาแค่ 1 เดือน เฉพาะกรณีที่เป็นข่าวเกิดขึ้นแล้ว 2-3 ราย

แม้ปัญหาครูคุกคามทางเพศนักเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ มีบทลงโทษตามระเบียบวินัยของราชการ ถ้าถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง โทษรุนแรงถึงขั้นไล่ออกหรือปลดออก

อีกทั้งยังมีเรื่องของการถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาครูด้วย

แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้หมดไป ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลเอาจริงมากแค่ไหนโดยเฉพาะการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่ถือว่ารุนแรง หากถูกเพิกถอนจะไม่สามารถเป็นครูได้ตลอดชีวิต

จากข้อมูลในเอกสารรายงานประจำปีงบประมาณ 2559 ของคุรุสภา ที่กำกับดูแลเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2559 มีการส่งเรื่องที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพมาให้พิจารณา 182 ราย ถูกตักเตือน 1 ราย ภาคทัณฑ์ 6 ราย พักใบอนุญาตชั่วคราว 10 ราย และเพิกถอนใบอนุญาตเพียง 4 รายเท่านั้น

ในขณะที่จำนวนครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กตามข้อมูลของ สพฐ.มีจำนวน 53 ราย นั่นแสดงว่าครูเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกลงโทษด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอย่างที่ควรจะเป็น

หากมาตรการลงโทษครูที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กยังเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตคนทำผิด ก็ยากที่จะแก้ปัญหา

ลำพังมาตรการเฉพาะกิจของ สพฐ.ที่สั่งกำกับควบคุมดูแลพฤติกรรมของครูอย่างเข้มงวดในช่วงนี้ ก็เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image