ไทยจ่อได้คืนโบราณวัตถุ 119 รายการ (คลิป)

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ว่า คณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ไทย ที่มีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้ากรณีการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ขอความร่วมมือประเทศไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลของ 2 โบราณวัตถุ ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้เรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการประสานงานระหว่าง 2 ประเทศ ส่วนกรณีที่สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ขอให้ทางประเทศไทยตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย จำนวน 17 รายการ ซึ่งจากการพิสูจน์และวิเคราะห์ พบว่า เป็นวัตถุโบราณที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 14 รายการ นั้น กรมศิลปากรได้ทำหนังสือยืนยันและแจ้งผ่านกต. เพื่อนำส่งไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว

ด้านนายอนันต์ กล่าวว่า การติดตามทับหลังปราสาทหนองหงส์ ทับหลังเขาโล้น และโบราณวัตถุ 14 รายการจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก โดยทางกรมศิลปากรได้แจ้งรายละเอียดทั้งหมด และสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบโบราณวัตถุที่ติดตามเพิ่มเติม จำนวน 24 รายการ แบ่งเป็น องค์ประกอบของโบราณสถานไทย 6 รายการ และประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย 18 รายการ มีทั้งพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กรมศิลปากรจัดส่งข้อมูลและหลักฐานไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการติดตามนำกลับสู่ประเทศไทย โดยยืนยันว่า มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง 23 รายการ แบ่งเป็น ประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย 18 รายการ และองค์ประกอบโบราณสถานของไทย 5 รายการคือ 1.เสาติดผนัง แสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มีรูปบุคคลขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง นำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ 2. เสาติดผนังแสดงรูปสตรีใช้มือซ้ายถือลายก้านต่อดอก มือขวาอยู่ในท่าคล้ายหลั่งทักษิโนทก ให้แก่บุคคลที่นั่งคุกเข่า นำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

นายอนันต์ กล่าวว่า 3.ทับหลังแสดงภาพเล่าเรื่องรามายณะ ตอนกุมภกรรณ ต่อสู้กับกองทัพวานร นำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ 4. ประติมากรรมลอยตัวรูปม้า มีเครื่องประดับที่คอ หลังและขาทั้งสี่ นำออกไปจากปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และ5.ทับหลังแสดงภาพรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ แบ่งเป็น 2 แนว แนวสลักภาพบุคคลประทับอยู่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยบุคคลฟ้อนรำ แนวล่างเป็นแถวรูปหงส์ นำออกไปจากปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา องค์ประกอบของโบราณสถานไทยอีก 1 รายการ นั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ที่ประชุมจึงขอให้ชะลอเพื่อให้คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ยังได้รายงานผลการพิจารณา กรณีโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมบ้านเชียง 13 รายการ ที่นาง Katherine Ayers-Mannix ชาวอเมริกัน จะส่งมอบคืนให้กับประเทศไทย ผลการตรวจสอบยืนยันว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ดำเนินการขอรับคืนตามขั้นตอนต่อไป อีกกรณีคือ ทางสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา แจ้งเบื้องต้นว่า มีโบราณวัตถุ 69 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยที่ประชุมได้มอบให้กรมศิลปากรไปตรวจสอบว่า ทั้ง 69 รายการนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยกี่รายการ เพื่อรายงานให้ที่ประชุมครั้งต่อไปรับทราบและส่งข้อมูลไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกาต่อไป ขณะเดียวกันกรมศิลปากรได้รายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่กต. ได้ส่งเรื่องมายังกรมศิลปากรขอให้ตรวจสอบโบราณวัตถุจำนวน 10 รายการ ที่จัดแสดงใน Norton Simon Museum เมืองพาวาดีน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะนำเข้าสู่การตรวจสอบของคณะอนุกรรมการวิชาการฯ ต่อไป

Advertisement

“การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน มีการติดต่อประสานขอข้อมูลระหว่าง 2 ประเทศ เราขยับเข้าใกล้มากขึ้น แต่ถ้าถามว่า เมื่อเข้าใกล้แล้วจะได้คืนมาเมื่อไรนั้น ไม่สามารถบอกได้ ซึ่งเท่าที่ดูโบราณวัตถุที่ตรวจสอบพบแล้วว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย เรามีความหวังทั้งหมดที่จะได้กลับคืนมา ส่วนที่คิดว่าจะได้คืนค่อนข้างแน่นอน คือ 1.)โบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมบ้านเชียง 13 รายการ ที่นางKatherine Ayers-Mannix ชาวอเมริกัน 2.) โบราณวัตถุที่มีผู้ประสงค์จะส่งคืนประเทศไทย 69 รายการ 3.)วัตถุโบราณที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย 14 รายการ และ4.ส่วนองค์ประกอบของโบราณสถานไทย 5 รายการ และประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย 18 รายการ มีทั้งพระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ รวม 23 รายการ เราก็มีความหวังเนื่องจากตรวจสอบพบค่อนข้างชัดเจนว่ามีแหล่งกำเนินในประเทศไทย”นายอนันต์ กล่าว

รายการโบราณวัตถุ ประเภทชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม จำนวน 5 รายการ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image