โครงการตำราฯ ตามรอยพระเจ้าตากฯ ที่วังเดิม ฝนกระหน่ำ คนไม่ถอย หวังกระจ่าง ปวศ.กรุงธนบุรี

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ภายในกองบัญชาการกองทองทัพเรือ ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ มีการจัดงานบรรยายสารณะ หัวข้อ “ตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กรุงธนบุรี” โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส จำกัด มีผู้สนใจร่วมฟังจำนวนมาก ทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และนักวิชาการ

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พระราชวังเดิมเป็นสถานที่สำคัญสุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ยังมีคนรู้จะกค่อนข้างน้อย หากเรามองออกไป ด้านซ้ายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระเจ้าตากสินมหาราช ยังเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น รัชกาลที่ 2 ครั้งยังทรงเป็น “วังหน้า” ต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประทับที่นี่

ศ.ดร.ชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ในพ.ศ. 2310 ในเวลาเพียง 8 เดือนก็สถาปนากรุงธนบุรีซึ่งเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ ถ้าไม่มีกรุงธนบุรี ก็ไม่มีกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าไม่มีกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่มีกรุงสยาม ถ้าไม่มีกรุงสยามก็ไม่มีประเทศไทย

ผศ.ดร ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ช่วง 2-3 ทศวรรษท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยายังไม่ชัดเจน แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีก็สามารถช่วยให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น

Advertisement

“ยุคกรุงธนบุรี เป็นประวัติศาสตร์ที่เปิดช่องให้ศึกษามากมาย เป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่สนุก มีสิ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามและหาคำตอบ เช่น ทำไมพระเจ้าตากสามมารถเป็นกษัตริย์ได้เมื่ออายุเพียง 33 ปี ทั้งยังเป็นคนที่อยู่ไกลจากศูนย์กลาง อำนาจของอยุธยา สิ่งที่เราไม่เคยคิดกันคือ การเสียกรุงเพราะอังวะนั้น ได้มีการพาชนชั้นนำของอยุธยาเกือบ 900 คน รวมถึงเชื้อพระวงศ์รวมแล้วกว่า 2,000 และคนแสนกว่าคนไปพม่า การเสียกรุงฯ คือการการนำพาชนชั้นนำเดิมออกไปเท่ากับเปิดช่องให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาได้” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กองทัพพม่า ยังเอาชุดความรู้ราชสำนักไปหมด เอกสารพม่าระบุว่า แม้แต่ตำราอาหารก็นำไปด้วย ดังนั้น การก่อร่างสร้างตัวเมืองธนบุรี จึงก่อร่างสร้างขึ้นบนฐานที่ค่อนข้างว่างเปล่า

นางสาว ศุภวรรณ ชวรัตนวงศ์ หัวหน้าสำนักงานและวิชาการ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวว่า สาเหตุที่พระเจ้าตากสินทรงเลือกพื้นที่บริเวณนี้สร้างกรุงธนบุรี เพราะขนาดเหมาะกับจำนวนไพร่พลที่มีอยู่ขณะนั้น เพราะเมืองนี้มีขนาดกลาง ไม่ใหญ่จนเกินไป อีกทั้งในช่วงเวลานั้นไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองเยอะ และหากเกิดพลาดพลั้ง ก็สามารถหนีไปเมืองจันทบุรีทางน้ำได้

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเป็นการนำชมพระที่นั่งขวาง ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้าตาก ปัจจุบันกองทัพเรือใช้เป็นห้องรับรองแขก พื้นเดิมเชื่อว่าเป็นไม้ เสร็จแล้วจึงเข้าสักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระบรมราชานุสาวรีย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนนำชมวัดอรุณ หรือ วัดแจ้ง ซึ่งสมัยกรุงธนบุรีเป็นวัดในพระราชฐาน ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างกาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ และบรรยายประวัติศาสตร์บริเวณกลางแจ้ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม วิทยากรได้ยืนกางร่มบรรยายกลางสายฝน โดยผู้ร่วมกิจกรรมก็ต่างยืนฟังกลางสายฝนเช่นกัน ส่วนหนึ่งกางร่ม และยืนฟังใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือหลบตามเพิงอาคารใกล้เคียง และอยู่จนจบการบรรยาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image