‘กยศ.’ เล็งเพิ่มกู้เรียน ‘นักบิน’ ปีละ 1ล้าน ชงมหาดไทยเบี้ยวหนี้ไม่ต่อบัตรปชช.

กยศ.เล็งใช้ยาแรงไล่บี้ผู้กู้เพื่อการศึกษาเร่งจ่ายหนี้ ประสานมหาดไทยหาช่องกฎหมาย ขืนเบี้ยวอีกไม่ต่ออายุบัตรประชาชน ถกประกันสังคมเช็กข้อมูล ร่วมลงนาม 36 หน่วยงานนายจ้างไล่ทวงอีกทาง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่กระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า วันนี้ กยศ.ได้ลงนามกับองค์กรนายจ้าง 36 หน่วยงาน ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวช่วยเหลือด้านหลักการบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ. โดยก่อนหน้านี้ กยศ.ได้มีการลงนามกับหน่วยงานต้นแบบ 5 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออกไปแล้ว และได้ผลเป็นอย่างดี โดยจะพยายามผลักดันให้หน่วยงานราชการทั้ง 200 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 50 แห่งเข้าร่วมให้มากขึ้น

นายสมชัยกล่าวว่า เท่าที่รับทราบตัวเลขของเงินกู้ กยศ. เป็นหนี้เสียกว่า 50% ถือว่าสูงมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีโครงการกระตุ้นผู้กู้กว่า 4 ล้านราย วงเงินกว่า 4.7 แสนล้านบาทให้ใช้หนี้คืน เพื่อ กยศ.จะสามารถใช้เงินที่ได้รับคืนไปปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป โดยไม่ต้องของบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา กยศ.มีโครงการดึงคนให้มาใช้หนี้ ทั้งลดดอกเบี้ยให้ ลดค่าปรับ แต่ยังเข้าโครงการน้อยมาก

“เงินนี้ที่นำมาให้กู้ยืมทั้งหมดมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน คือเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ แต่เนื่องจากผู้กู้ยืมบางส่วนไม่ชำระเงินคืนกองทุน จึงส่งผลกระทบกับเงินที่จะนำมาหมุนเวียนเพื่อให้กู้ยืมกับนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป ดังนั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นที่แรงขึ้น เพื่อให้เกิดการสำนึก เกิดความยางอาย และมาใช้หนี้เพิ่มขึ้นกันบ้าง” นายสมชัยกล่าว

Advertisement

นายสมชัยกล่าวว่า ในส่วนของข้าราชการเป็นหนี้ กยศ. และไม่ยอมใช้หนี้กว่า 6 หมื่นราย จะพยายามให้ข้าราชการทั้งหมดใช้หนี้ด้วยการขอให้หน่วยงานราชการมาเข้าร่วมโครงการกับ กยศ.ทั้งหมด ซึ่งการลงนามระหว่างหน่วยงานนายจ้างกับ กยศ.จะทำให้สามารถหักบัญชีรายเดือนสำหรับคนที่เป็นหนี้ได้ โดยหักต่อเดือนไม่มาก เพียง 100 บาท สำหรับหนี้ 1 แสนบาท หรือปีละประมาณ 1,500 บาท ดีกว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องออกจากราชการ

นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้เตรียมจะไปหารือกับสำนักงานประกันสังคม ในการตรวจสอบข้อมูลผู้กู้ที่มีการทำประกันสังคมเพื่อตามมาชำระหนี้ รวมถึงกำลังประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้ไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้ผู้ที่ไม่ใช้หนี้ กยศ. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังไปดูว่าผิดกฎหมาย หรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายสมชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ กยศ.ไปดูในเรื่องการเพิ่มเพดานการกู้ และการให้กู้สำหรับสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อาชีพนักบินที่ใช้เงินปีละ 1 ล้านบาทนั้น ให้ไปดูว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ กยศ.จะให้กู้ครอบคลุมค่าเรียนได้ทั้งหมด จากขณะนี้มีเพดานการกู้สำหรับวิศวกร 8 หมื่นบาทต่อคนต่อปี แพทย์ 2 แสนบาทต่อปี

นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ในผู้กู้กว่า 4 ล้านราย วงเงินกู้กว่า 4.7 แสนล้านบาทนั้น มีผู้ครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 3 ล้านราย โดยยังมีค้างชำระ 2 ล้านราย ในจำนวนนี้ชำระหนี้ได้ปกติ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 8 แสนราย ไกล่เกลี่ย 1 แสนราย โดยเงินที่ยังค้างชำระมีอยู่ 5.5 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหวังว่าการดำเนินโครงการต่างๆ นั้นจะทำให้ผู้กู้มาชำระหนี้มากขึ้น โดย 3 ปีที่ผ่านมาการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ปีงบ 2558 ชำระหนี้ 17,000 ล้านบาท ปี 2557 ชำระหนี้ 13,000 ล้านบาท ปี 2556 ชำระหนี้ 11,000 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงาน 36 แห่งที่มาลงนามครั้งนี้แบ่งเป็นระดับกระทรวง 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับหน่วยงานในสังกัดกระทรวง 10 หน่วยงาน อาทิ กรมธนารักษ์ ศุลกากร สรรพากร สรรพสามิต สำนักงานการอุดมศึกษา กรมอุตุนิยมวิทยา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 18 หน่วยงาน อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ โรงงานยาสูบ โรงงานไพ่ องค์การตลาด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่วนบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image