‘ประจิน’สั่งกรองอาชีพใหม่-โลจิสติกส์มาแรง ต้องการ 2 หมื่นอัตรา

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) นัดแรกของปี 2561 โดยสาระสำคัญเป็นการรายงานความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกำลังคนกลุ่มสาขาอาชีพทั้ง 7 ด้านตามลำดับที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการคัดกรองอาชีพใหม่ ๆ รองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน พบว่ามีความต้องการกำลังคนด้านระบบรางมากกว่า 20,000 อัตรา ครอบคลุมตำแหน่งวิศวกร ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่สถานี อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเร่งวางระบบการสร้างกำลังคนระบบฐานรากให้มั่นคง สามารถตอบโจทย์กำลังคนระยะยาว 15 – 20 ปี และวางแผนผลิต ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานระบบรางปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีการวางแนวทางพัฒนายกระดับพนักงานควบคุมยานพาหนะมืออาชีพ (Smart Driver) มุ่งเน้นยกระดับผู้ขับขี่รถบรรทุกที่มีอายุ 22 ปีขึ้นไป ให้มีทักษะการขับรถและดูแลรถ นำมาอบรม 280 ชั่วโมง เพื่อสร้างจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้นในการขับขี่รถบรรทุกสินค้าอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กลุ่มอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีการคาดการณ์ความต้องการแรงงานช่างสายเทคนิค และช่างสายสนับสนุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เช่น ช่างซ่อมบำรุง และช่างออกแบบ ซึ่งยังไม่มีสถาบันในระดับอาชีวศึกษาจัดทำหลักสูตรรองรับวิชาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติและการผลิตกำลังคนในระดับอุดมศึกษายังไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรเร่งด่วนที่ต้องเน้นต่อยอดทักษะให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เร่งขยายผลเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพหุ่นยนต์ฯ เพื่อผลิตกำลังคนด้านนี้จึงเป็นความท้าทายของประเทศ และมีความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และดิจิทัลคอนเทนต์ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เฉลี่ยปีละ 20,000 คน ซึ่งยังขาดแคลนกำลังคนด้านนี้อย่างรุนแรง โดยที่ประชุมเห็นควรปรับหลักสูตรระยะสั้น และปรับหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ให้เน้นสาระทางด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น นักโปรแกรมเมอร์รักษาความปลอดภัยระบบไอที (IT Security Programmer) นักสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ (Animation) เข้ามาช่วยอบรมด้านวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติมรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ทางด้านอาหารและเกษตร จะเร่งพัฒนากำลังคนเพื่อเป็นผู้ประกอบการฟาร์ม (Smart Farmer Entrepreneur) ผู้ประกอบการอาหาร (Smart Food Entrepreneur) นักจัดการเกษตร (Farm Manager) ด้านปิโตรเคมี และพลังงานทดแทน จะเน้นการผลิตกำลังคนในระดับช่างเทคนิค และมุ่งไปที่การจัดการด้านพลังงานทดแทน สำหรับด้านแม่พิมพ์ ในระยะแรกจะเป็นแม่พิมพ์ จากยางพาราสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) และเครื่องไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

“รองนายกฯ เน้นย้ำว่าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติจะรอแต่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนทั้งระบบคือ ทั้งฝ่ายผลิตกำลังคนและฝ่ายใช้กำลังคนควรมาร่วมกันทำงาน สาขาอาชีพที่กำหนดไว้ทั้ง 7 กลุ่มอาชีพ คาดจะเริ่มต้นขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติหรือคิ๊กออฟได้ทันภายในปี 2561 และอาจมีการศึกษาอาชีพใหม่ ๆ ที่มากกว่าอุตสาหกรรมอนาคตหรือ New S-Curve ที่ต้องนำข้อมูลมาปรึกษาหารือกัน อย่างไรก็ดีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ NQF จะเร่งสังเคราะห์งานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อน NQF ทั้งระบบ” นายชัยยศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image