‘สถาบันคุรุพัฒนา’เดินเครื่องประเมิน 3.2 พันหลักสูตรอบรมครูปี 61

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงและประเมินหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน จัดโดยสถาบันคุรุพัฒนา และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยมีนายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา ผู้บริหาร ศธ. ตลอดจนคณะกรรมการจัดระบบการรับรองหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน และคณะกองบรรณาธิการหลักสูตร เพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน เข้าร่วมกว่า 500 คน โดยนพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่าไม่มีใครรู้ดีที่สุดว่าครูควรพัฒนาอะไร นอกจากครูเอง ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการจัดระบบการรับรองหลักสูตรเพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน และคณะกองบรรณาธิการหลักสูตร เพื่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ร่วมกันพิจารณาและประเมินหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ปี 2561 จำนวน 3,219 หลักสูตร ตามกรอบแนวคิดของการออกแบบหลักสูตร ที่เน้นบูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระวิชา (Content Knowledge) กับหลักวิชาชีพครู (Pedagogical Knowledge) มุ่งพัฒนาสมรรถนะและความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและเท่าทันต่อโลกศตวรรษที่ 21 ตามสาระวิชาเฉพาะที่บูรณาการเนื้อหากับศาสตร์วิชาชีพครู (Pedagogical content knowledge: PCK) หรือหลอมรวมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับการจัดการเรียนการสอนเฉพาะทาง (Technology content knowledge)ตลอดจนนำกรณีศึกษาหรือแนวทางต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุนให้ครูเกิดแนวคิดและแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน และปฏิบัติตามกระบวนการชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning community) สิ่งสำคัญคือการกำหนดเกณฑ์และวิธีการประเมินหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน ของแต่ละสังกัด

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า การประเมินหลักสูตรจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้ เพื่อให้หน่วยงานนำไปใช้ และประกาศลงเว็บไซต์สถาบันคุรุพัฒนา (www.kurupatana.ac.th) ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า หลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในปีนี้ จะเน้นในเรื่องของคุณภาพ และมีความเข้มข้นตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกหลักสูตร ที่จะเปิดกว้างหลักสูตรจากทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และอื่น ๆ ส่วนหลักสูตรที่เป็นเทคนิคการสอนต่าง ๆ (Active learning) จะปรับปรุงให้บูรณาการเนื้อหาวิชากับศาสตร์วิชาชีพครูมากขึ้น จะแยกเทคนิคการสอนกับเนื้อหาวิชาเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ และวิทยากรต้องมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาด้วย รวมทั้งการรับสมัครครูเข้ารับการอบรมก็ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น

“ขอฝากให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่า การอบรมและพัฒนาครูนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องอบรมอยู่บนพื้นฐานของเนื้อหาวิชาและเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดยยึดถือเรื่องคุณภาพเป็นที่ตั้ง มีการแข่งขันอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกเพียงไม่กี่หลักสูตร ก็ต้องยอมรับ เพื่อให้ได้คุณภาพจริง ๆ และเกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า แม้จะมีงบประมาณสำหรับอบรมจำนวนมาก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด เพราะขณะนี้ต้องการจะรักษามาตรฐานให้สูงไว้ พร้อมขอให้ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียงชี้แจงแนวคิดเรื่องคุณภาพให้แก่ครู และสะท้อนถึงหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการอบรมในปีต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และหวังว่าการดำเนินงานครั้งนี้จะเป็นจุดกำเนิดราชวิทยาลัยครูในอนาคต เช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์ เพื่อเป็นแหล่งวิชาการในการพัฒนาครูทั้งประเทศต่อไป”นพ.ธีระเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image