เด็กไทยเจ๋ง! คว้าที่ 3 เอเชีย การแข่งขัน Imagine the Future 2018 ที่สิงคโปร์

ดร.มัลลิกา อิชวาราน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและที่ปรึกษาด้านพลังงานของเชลล์ เปิดเผยว่า ในการแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ Imagine the Future 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมเยาวชนไทยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของผลงาน “Newtopia Future of Urban – นครแห่งอนาคต” สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 12 ทีมจากทั่วทวีปเอเชีย และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน การแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ Imagine the Future เป็นหนึ่งในกิจกรรมเด่นของเวทีเสวนา Powering Progress Together Forum ภายในงาน Shell Make the Future Singapore สุดยอดงานเทศกาลแห่งไอเดียและนวัตกรรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย เพื่อจุดประกายความคิด เตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานของโลก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากชาวสิงคโปร์ และประเทศใกล้เคียง

“ผลงาน Newtopia Future of Urban – นครแห่งอนาคต ของนักศึกษาจากทีม มช.ให้ความสำคัญเรื่องความหนาแน่นของประชากรในอนาคต โดยแบบจำลองแรกจะเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นน้อย มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และการมีพื้นที่สีเขียวมากจะช่วยผลักดันความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา มีเทคโนโลยีอันชาญฉลาด ท่ามกลางวิถีชีวิตที่สบายๆ ไม่เร่งรีบ ช่วยให้เมืองยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีเดิมไว้ได้” ดร.มัลลิกา กล่าว

น.ส.อาทิตยา มะโนแสน นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตัวแทนทีม มช.กล่าวว่า ดีใจ และภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย และนำรางวัลกลับบ้าน ในการพัฒนาแบบจำลอง เรามองปัจจัย 3 อย่าง คือ ประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ว่าจะส่งผลต่อลักษณะของเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้วใน พ.ศ.2593 อย่างไร เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ทีมของเราได้รางวัล คือการประยุกต์ใช้สถานการณ์แวดล้อมตัวเราทั้งที่เมืองเชียงใหม่ (เมืองภูมิลำเนาของนักศึกษาทีมนี้) และกรุงเทพฯ โดยจินตนาการว่าเราจะพัฒนาอะไรให้ดีที่สุด โดยใช้พื้นฐานจากสิ่งที่เมืองของเราเป็น

Advertisement

น.ส.ปาณัท แสนมหาชัย อีกหนึ่งตัวแทนจากทีม มช.กล่าวว่า การเข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future 2018 ช่วยเปิดประสบการณ์ให้เราในเวทีระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนเก่งๆ จากหลายประเทศ รวมถึง ได้ฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิ และถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่สุด สำหรับโมเดลที่พวกเราพัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปต่อยอด และพัฒนาเพื่อใช้จริงได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างๆ และประชาชนทุกคน ที่ต้องทำความเข้าใจ สนับสนุน และร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี และแนวทางการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคต เชื่อว่าไทยในอนาคตจะมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน

อนึ่ง สำหรับผลงานที่ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้คือ ทีม Yale-NUS College จากสิงคโปร์ เจ้าของผลงาน “A Binary World vs. A Dispersed Planet”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image